อดีตที่ผ่านไป กับอนาคตที่จะมาถึง

(บทความ : สุทธิชัย ทักษนันต์)

ผมเป็นคนในยุคเบบี้บูมเมอร์ที่เกิดและโตในกรุงเทพฯ เรียนหนังสือตั้งแต่เด็กจนโตบนถนนสุขุมวิทที่ทุกวันนี้เป็นย่านกลางเมืองอันเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของประเทศไทย

ในสมัยเด็ก ตึกที่สูงที่สุดในกรุงเทพฯ มีอยู่เพียงสองแห่ง คือ โรงแรมดุสิตธานี และตึกโชคชัย 25 ชั้น ใกล้สุขุมวิท 26 ตอนเป็นเด็กสมัยที่เรียนหนังสือชั้นประถมอยู่ที่โรงเรียนศรีวิกรม์ ชอบไปเที่ยวเล่นบนตึกโชคชัย ขึ้นลิฟท์ไปชั้นบนสุดมองออกไปนอกหน้าต่าง เห็นแม่น้ำเจ้าพระยาได้ชัดเจน ไม่มีตึกอะไรบัง เจอทหารจีไอฝรั่งอเมริกันที่อยู่บนตึกนี้ซึ่งเป็นที่ทำการของซีไอเอในยุคนั้น ฝรั่งพูดไทยชัดเจนถามพวกเราว่า “จะขึ้นหรือจะเล่น!?!” พวกเราตกใจฝรั่งพูดไทยได้หัวเราะกันชอบใจแล้วก็รีบเผ่นกลับกัน

ห้างสรรพสินค้าที่ดังที่สุดในยุคนั้นคือ ไทยไดมารูของญี่ปุ่นย่านราชดำริ เป็นที่แรกในประเทศไทยที่มีบันไดเลื่อน ทางห้างเอาบันไดเลื่อนมาเป็นจุดขายโฆษณาเชิญชวนให้คนไปเที่ยวห้าง ยังจำได้ว่าครั้งแรกในชีวิตที่ได้ลองกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปก็ซื้อมาจากห้างไดมารู เป็นแบรนด์ญี่ปุ่น ในยุคนั้นเป็นอะไรที่แปลกใหม่และมหัศจรรย์มาก

ครั้งแรกในชีวิตที่ได้ดื่มโค้กกระป๋องก็เป็นของนอกที่ส่งตรงจากอเมริกา ได้มาจากร้านค้าพีเอ็กซ์ซึ่งเป็นร้านค้าสวัสดิการสำหรับทหารอเมริกันในยุคสงครามเวียดนามที่ใช้ประเทศไทยเป็นฐานทัพ ของนอกแปลกๆใหม่ๆที่หาซื้อไม่ได้จากร้านค้าทั่วไปสามารถหาได้จากพีเอ็กซ์

มีร้านขายของชำแบบเก่าที่ขายของสารพัดอย่างอยู่ทั่วทุกแห่ง สินค้าที่นำมาขายในร้านขายของชำส่วนใหญ่ได้มาจากการซื้อที่ร้านค้าส่งย่านตลาดเก่าเยาวราช

ย่านคนจีนเยาวราช สำเพ็ง พาหุรัด วัดตึก คลองถม คลองโอ่งอ่าง ตลาดเก่า เป็นย่านการค้าที่เป็นศูนย์กลางของสินค้าเกือบทุกชนิดของประเทศไทย

ตลาดนัดที่เป็นแหล่งชุมนุมสินค้าเกือบทุกอย่างของประเทศไทยอยู่ที่สนามหลวง มีเฉพาะวันเสาร์อาทิตย์ ตอนเด็กผมก็ไปเป็นประจำ ชอบไปดูสัตว์เลี้ยงที่เอามาขายกัน และได้มีโอกาสค้นหาหนังสือเก่าๆที่มีราคาถูกและหาซื้อยาก

ห้างสรรพสินค้าในยุคนั้นมีอยู่ไม่กี่แห่ง สินค้ายังไม่หลากหลาย ส่วนที่มีขายก็ราคาสูงมาก จับต้องลำบาก

จะหาสินค้าทันสมัยราคาไม่สูงต้องไปที่ตลาดปีนังย่านคลองเตย มีสินค้าหลบเลี่ยงภาษีมากมาย บางส่วนก็เป็นสินค้าที่เอาออกมาจากพีเอ็กซ์ นอกจากตลาดปีนังแล้ว คนกรุงเทพฯชอบไปซื้อของหนีภาษีที่หาดใหญ่จังหวัดสงขลาซึ่งอยู่ใกล้มาเลเซีย สิงคโปร์ มีสินค้าหนีภาษีมากมาย

คนไทยรวยๆในสมัยก่อน นิยมไปช๊อปปิ้งที่ ฮ่องกง ซึ่งในสมัยนั้นยังเป็นอาณานิคมของสหราชอาณาจักร มีสินค้าแปลกใหม่จากยุโรปหรืออเมริกามากมาย ซึ่งหาไม่ได้ในไทยหรือขายในราคาที่ต่ำกว่าในไทยมากๆ

คนที่อยู่ในเมืองส่วนใหญ่จะอยู่บ้านที่เป็นตึกแถว คนรวยจะอยู่บ้านพร้อมที่ดินที่สมัยก่อนเรียกว่า “บ้านกินลม” แต่เดี๋ยวนี้เรียกว่า “บ้านเดี่ยว” คนจนจะอยู่ในสลัมซึ่งเป็นพื้นที่แออัด ปลูกบ้านแบบง่ายๆอยู่ติดกันแน่นไปหมด เกิดเพลิงไหม้บ่อยมาก

การเดินทางในกรุงเทพฯยุคนั้นใช้รถเมล์เป็นหลัก รถเมล์มีสารพัดสี แดง เขียว เหลือง ขาว ส้ม ฯลฯ มองแต่ไกลก็รู้ว่าเป็นสายอะไร ถ้าต้องการความเร็วก็เรียก ตุ๊กๆ หรือ รถแท็กซี่ แต่ไม่มีมิเตอร์และต้องต่อรองราคาให้พอใจทั้งสองฝ่าย ในตอนนั้นไม่มีวินมอร์เตอร์ไซค์รับจ้าง ผู้คนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ใกล้ถนนหลักที่มีรถเมล์ผ่าน

ตอนเป็นเด็ก รถส่วนตัวที่วิ่งตามท้องถนนมีแต่รถยุโรปหรือรถอเมริกัน ถนนมีไม่มาก รถก็มีไม่มากเช่นกัน พอเริ่มโตขึ้นมาจึงมีโอกาสได้เห็นรถญี่ปุ่นมากขึ้น

ก่อนปี 2520 เวลาพูดถึงย่านค้าขายในกรุงเทพฯก็จะคิดถึงเยาวราช สยามสแควร์ สีลม ประตูน้ำ สุขุมวิท นอกพื้นที่นี้ก็ถือว่าค่อนข้างห่างไกลความเจริญ ถนนสุขุมวิทที่เลยพระโขนงไปก็มีแต่ทุ่งนาเป็นส่วนใหญ่ ถนนลาดพร้าวที่ทุกวันนี้เป็นถนนที่รถติดที่สุด สมัยก่อนเป็นถนนลูกรัง รถวิ่งทีมีฝุ่นตลบ เป็นย่านที่เคยมีต้นมะพร้าวปลูกอยู่มากมาย บ้านพักอาศัยยังมีไม่มากเหมือนยุคนี้

ครั้งแรกที่ผมได้กินไก่เคเอฟซี เป็นช่วงวัยทำงานแรกๆ เป็นปี 2527 ที่เซ็นทรัลลาดพร้าว เปิดประจันหน้ากับร้านเอแอนด์ดับบลิวที่เน้นขายไก่ทอดเหมือนกัน ความจริงก็อร่อยทั้งสองแห่ง แต่การตลาดของเคเอฟซีดีกว่ามาก

ในสมัยนั้นไม่มีแมคโดนัลด์มากมายเหมือนยุคนี้ ได้กินแฮมเบอร์เกอร์ครั้งแรกย่านสยามสแควร์จากร้านอาหารสไตล์ยุโรปและอเมริกัน กินครั้งแรกมันอร่อยจริงๆ ซ๊อสมะเขือเทศ เนื้อ ผัก และขนมปัง มันเข้ากันได้ดีมากจริงๆ กัดเข้าไปแล้วเต็มปากเต็มคำดี

คนร่วมสมัยผมที่อายุเกินห้าสิบแล้ว คงพอจำเรื่องที่ผมเขียนถึงข้างต้นนี้ได้ แต่คนที่อายุต่ำกว่านั้นอ่านแล้วอาจเห็นเป็นเรื่องแปลกใจ และอาจไม่เชื่อว่าเป็นอย่างนั้นจริงๆ

ในตอนที่ความเจริญเริ่มแพร่กระจายออกมารอบนอกย่านใจกลางเมือง ในตอนนั้นนึกภาพไม่ออกเลยว่าธุรกิจมันจะไปได้อย่างไร ครั้งแรกที่เซ็นทรัลลาดพร้าวมาเปิดในปี 2527 รู้สึกแปลกใจและสงสัยว่าจะไปรอดหรือไม่ แต่แล้วเซ็นทรัลลาดพร้าวก็กลายเป็นห้างเซ็นทรัลที่ขายดีที่สุดในกลุ่มเซ็นทรัล

ทุกวันนี้ความเจริญได้แผ่ขยายไปมากมาย ไม่ใช่เฉพาะกรุงเทพฯ แต่เจริญกระจายไปทั่วประเทศ เดี๋ยวนี้มีคนไทยที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองมากกว่าคนที่อาศัยอยู่ในชนบท

นอกจากประเทศไทยแล้ว เพื่อนบ้านในเออีซีรอบบ้านเราก็เริ่มมีความเจริญที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โตไปพร้อมกับส่วนกลางของประเทศ และส่วนหนึ่งอาจมาจากการเป็นเมืองหน้าด่านที่ติดกับประเทศไทย ทำให้กลายเป็นเมืองค้าขายที่เติบโตไปพร้อมกับไทย

ในช่วงยี่สิบกว่าปีที่ผ่านมานี้ การแผ่ขยายของชุมชนเมืองในไทยมีเพิ่มขึ้นมากจริงๆ แต่ผมไม่แน่ใจว่ารูปแบบการขยายและการเติบโตของธุรกิจจะยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไปหรือไม่

นักคิดนักวิชาการฝรั่งบอกว่าตั้งแต่ปี 2014 เป็นการเริ่มต้นของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 เป็นยุคดิจิตอลและอินเตอร์เน็ตที่เข้ามามีบทบาทอย่างมากกับวิถีชีวิตของคนยุคใหม่

การค้าขายแบบออนไลน์มีแพร่หลายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อีกหน่อยคงมีการช็อปปิ้งตามห้างสรรพสินค้าน้อยลงอย่างต่อเนื่อง

ผู้คนอาจไม่ต้องเดินทางมากมายเหมือนวันนี้ เพราะการสื่อสารสะดวกสบายมากขึ้น มีเครื่องมือเครื่องใช้ช่วยทุ่นแรงให้ทำงานได้คล่องตัวมากขึ้น

ฟินเทคก็กำลังมาแรง เข้ามาแย่งธุรกิจของธนาคารและสถาบันการเงินรูปแบบเดิม ไม่จำเป็นต้องออกไปติดต่อถึงที่ แต่ทำธุรกรรมสารพัดอย่างได้บนสมาร์ตโพน

วันนี้ยังเป็นช่วงเริ่มต้นของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ของโลก นับจากนี้ไปเราจะได้เห็นแนวทางของการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนขึ้น

เราได้เห็นหลายสิ่งหลายอย่างเริ่มเปลี่ยนในหลายประเทศแล้ว ต่อไปต้องได้เห็นสิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นในไทยแน่ๆ

Leave a Reply