เทคโนโลยีเปลี่ยนการศึกษาสู่ยุคออนไลน์ เหมือนการพลิกโฉมระบบค้าปลีกและสื่อ

ระบบค้าปลีกรูปแบบเก่าที่ต้องไปจับจ่ายซื้อของตามร้านค้าจริง เริ่มถูกแทนที่ด้วยค้าปลีกแบบออนไลน์เป็นอีคอมเมิร์ซซึ่งซื้อขายกันในโลกอินเตอร์เน็ต มีเว็บไซต์ที่เด่นดังของโลก เช่น Amazon, Alibaba, Ebay, Lazada ฯลฯ

ถ้าเป็นการดูทีวีในยุคนี้ก็ต้อง Netflix

หากฟังเพลงคนจำนวนมากไปที่ Spotify

ข่าวสารที่เคยอ่านจากหนังสือพิมพ์หรือทีวีก็หมดยุคแล้ว ผู้คนได้ดูภาพและได้ยินเสียงจากเว็บไซต์ซึ่งเลือกดูที่ไหนเวลาใดก็ได้ตามที่ต้องการ

ระบบการศึกษาทั่วโลกที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงมาเป็นร้อยปี กำลังจะเปลี่ยนไปเช่นกัน เทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ความรู้สามารถขยายฐานเข้าถึงผู้คนได้ในวงกว้าง

ไม่ว่าจนรวยแค่ไหน อยู่ประเทศใดในโลก หากรู้จักขวนขวายและตั้งใจใฝ่รู้จริง มีทางเป็นไปได้สำหรับทุกคน ขอเพียงแค่เชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตได้

ระบบการศึกษายุคนี้ มีรูปแบบการเรียนการสอนสมัยใหม่เรียกว่า Massive Open Online Courses มีตัวย่อที่เรียกกันเป็นสากลว่า MOOCs หรือ มูคส์ เป็นคอร์สออนไลน์ให้เรียนทางอินเตอร์เน็ตจากมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเรียนฟรี แต่สำหรับผู้ที่ต้องการใบรับรองหรือปริญญาสามารถลงทะเบียนเรียนกับสถาบันที่เปิดรับได้

เว็บไซต์ออนไลน์ มูคส์ ชื่อดังของโลกที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น coursera, udacity, และ edX

คนส่วนใหญ่อาจมองว่าระบบการเรียนการสอนแบบเก่าที่อาจารย์และนักศึกษาได้อยู่กันต่อหน้าในชั้นเรียน ได้บรรยากาศดีกว่าและน่าจะได้ผลดีกว่า แต่อาจไม่เป็นความจริงแล้วก็ได้

ในลิงค์วิดีโอที่แนบมานี้เป็นการพูดของ Anant Agarwal ซีอีโอของ edX ในงานของ TED Talks ทำให้เห็นภาพของการเรียนแบบออนไลน์ยุคใหม่ซึ่งแตกต่างกับระบบเก่าและดูมีประสิทธิภาพแบบน่าทึ่งจริงๆ

อนันต์ อักควาร พูดให้ฟังถึงไอเดียของการเรียนแบบมุคส์ที่แตกต่างกับระบบการศึกษาแบบเก่าไว้ 5 เรื่อง คือ Active Learning, Self-Pacing, Instant Feedback, Gamification, Peer Learning

  1. Active Learning หรือ “การเรียนรู้แบบกระตือรือร้น”

แทนที่จะให้นักศึกษาเดินเข้าไปชั้นเรียนและนั่งฟังแล็กเชอร์ของอาจารย์ซึ่งเป็นการบรรยายแบบเก่า เปลี่ยนเป็นการเอาบทเรียนที่ต้องการถ่ายทอดปรับเปลี่ยนเป็นวิดีโอที่มีการจัดเรียงลำดับอย่างเป็นขั้นเป็นตอน

เริ่มตั้งแต่การให้นักศึกษาดูวิดีโอประมาณ 5-7 นาที หลังจากนั้นก็มีแบบฝึกหัดให้ผู้เรียนโต้ตอบไปมา เป็นการสอนโดยตั้งคำถามให้ผู้เรียนตอบ

หากผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์กับเนื้อหาในแต่ละบทเรียนโดยตรง การเรียนรู้สามารถเข้าถึงได้ลึกซึ้งมากกว่า

  1. Self-Pacing หรือ “เดินหน้าด้วยตนเอง”

ลองนึกภาพการเรียนในชั้นเรียนแบบเก่า มีบางช่วงที่เราตามอาจารย์ไม่ทัน พอก้าวไปพูดเรื่องอื่นก็อาจทำให้ผู้เรียนบางคนหลงทาง และไม่เข้าใจสิ่งที่สอนในช่วงหลังทั้งหมด กลายเป็นการนั่งเรียนที่สูญเปล่าเป็นชั่วโมง

แต่ระบบการสอนแบบใหม่ที่มาในรูปแบบของวิดีโอ ช่วงไหนอยากจะหยุดก็กดปุ่มหยุด อยากฟังซ้ำให้เข้าใจมากขึ้นก็ย้อนหลังกลับไปฟังใหม่

การเรียนรู้แบบเดินหน้าถอยหลังไปมาด้วยตัวผู้เรียน ช่วยในการทำความเข้าใจเพิ่มขึ้นได้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียนจากภาษาที่ไม่ใช่ภาษาแม่ของตัวเอง การฟังซ้ำเป็นประโยชน์อย่างมาก

  1. Instant Feedback หรือ “การตอบรับแบบทันที”

ถ้าเป็นการเรียนการสอนแบบเก่า เวลานักศึกษาส่งการบ้านให้อาจารย์ กว่าจะรู้ว่าทำถูกหรือทำผิดอาจต้องรออาจารย์ตรวจงานให้เสร็จนานสองสัปดาห์ ซึ่งแม้แต่ตัวผู้เรียนก็จำไม่ได้แล้วว่าทำอะไรไปบ้าง

แต่ในกรณีของการเรียนแบบใหม่ มีคอมพิวเตอร์ช่วยตรวจวัดความถูกผิดของแบบฝึกหัดทันที คำตอบที่ผิดหรือถูกสามารถรู้ทันที ทำผิดก็ลองทำใหม่ได้หลายครั้งจนกว่าจะหาคำตอบที่ถูกต้องพบ ทำให้ผู้เรียนรู้สามารถจดจำวิธีการทำที่ถูกต้องได้ดีกว่าระบบเก่า

การเรียนพร้อมกันในคอร์สเดียวกันมากถึง 150,000 คน ก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะมีคอมพิวเตอร์ช่วยรองรับได้หมด

การตอบรับแบบทันที ทำให้ช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้กลายเป็นผลของการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นทันที

  1. Gamification หรือ “สื่อการเรียนการสอนในรูปแบบเกม”

แนวทางการเรียนรู้โดยใช้เกมเป็นสื่อ เป็นวิธีกระตุ้นการเรียนด้วยการเล่นวิดีโอเกม เป้าหมายเพื่อการเรียนรู้ที่สนุกสนาน พยายามดึงผู้เรียนให้สนใจและเป็นแรงบันดาลใจให้ต้องการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ผู้เล่นเกมได้รับอิทธิพลและซึมซับความรู้ที่เป็นเนื้อหาอยู่ในเกม

ผู้ที่เล่นเกมได้คะแนนสูง ก็เหมือนกับการทำแบบฝึกหัดได้ถูกต้องมากกว่า

  1. Peer Learning หรือ “การเรียนรู้แบบเพื่อนช่วยเพื่อน”

หมายถึงการฝึกการเรียนรู้โดยการโต้ตอบไปมาระหว่างนักศึกษาด้วยกันเองเพื่อหาคำตอบที่ถูกต้อง เป็นการถกเถียงในกลุ่ม สมาชิกในกลุ่ม มาร่วมกันวิเคราะห์ปัญหา เหมือนเป็นการลองผิดลองถูกอย่างมีเหตุผลจากความรู้และประสบการณ์ที่หลากหลายจากทั่วโลก และมีอาจารย์หรือระบบช่วยยืนยันความถูกต้องในขั้นสุดท้าย

การเรียนรู้แบบนี้ ยิ่งมีสมาชิกมากยิ่งดี สมาชิกที่ร่วมเรียนนับแสนคนสามารถเข้ามาร่วมโต้ตอบกระทู้ที่เป็นคำถามหรือประเด็นที่ต้องการถกได้ เหมือนกับโพสต์ในเฟสบุ๊กที่มีเพื่อนๆเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นพร้อมๆกัน

ไอเดียการเรียนการสอนทั้ง 5 แบบดังกล่าว มีเทคโนโลยีช่วยทำให้มีประสิทธิภาพและทำให้รูปแบบการเรียนรู้ของนักศึกษาด้วยวิธีการดังกล่าวมีความเป็นไปได้ ที่จริงก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงแล้ว

การลงทุนลงแรงสร้างสื่อการสอนในรูปแบบใหม่ มีโอกาสทำได้คุ้มค่ามากกว่า เพราะฐานจำนวนผู้เรียนมันกินวงกว้างมาก ไม่มีปัญหาเรื่องผู้เรียนจำนวนมากๆที่เรียนพร้อมๆกัน เพราะมีโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ช่วยให้เกิดการโต้ตอบอย่างมีประสิทธิภาพแบบตัวต่อตัว

การเรียนแบบ มูคส์ สามารถใช้อาจารย์ผู้สอนที่โดดเด่นในแต่ละวิชาโดยตรง หมดปัญหาเรื่องผู้เรียนเจออาจารย์ไม่ดี ถ่ายทอดไม่เก่ง เพราะต่อไปไม่ต้องใช้ผู้สอนในแต่ละวิชาหลายคนสำหรับหลายคลาส เหลือไว้แต่คนที่ดีที่สุดเพียงไม่กี่คน

มีการคิดไปไกลว่า ห้องเรียนแบบเก่าที่มีอาจารย์ผู้สอนหนึ่งคนเป็นศูนย์กลาง แล้วมีนักศึกษานั่งฟังแล็กเชอร์พร้อมๆกันในห้องเหมือนการนั่งชมคอนเสิร์ต อาจกลายเป็นอดีตที่เก็บอนุรักษ์ไว้เท่านั้น ต่อไปจะเอาไว้ให้คนรุ่นลูกรุ่นหลานดูว่า…ในสมัยก่อนสอนหนังสือกันแบบนี้ ผู้เรียนต้องนั่งฟังพร้อมๆกัน แม้แต่ปุ่มรีไวด์ย้อนกลับไปฟังใหม่ก็ไม่มี….

https://www.cnbc.com/2018/05/30/how-technology-is-changing-in-the-education-sector.html

https://www.coursera.org/learn/open-innovation-entrepreneurship

https://www.udacity.com/

https://www.edx.org/

 

Posted in IoT

Leave a Reply