(บทความ : สุทธิชัย ทักษนันต์)
ตอนที่ผมเริ่มชีวิตการทำงานใหม่ๆเป็นยุคแรกของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 แต่พอใกล้เกษียณกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4
ข่าวและบทความทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีที่เคยทำเมื่อสามสิบกว่าปีก่อน มี IBM เป็นบริษัทเด่นที่สุด เป็นยุคที่คอมพิวเตอร์เริ่มเข้ามามีบทบาทในภาคธุรกิจ ธนาคารในประเทศไทยเริ่มเอาเครื่อง ATM มาใช้ ซึ่งเป็นสินค้าที่เป็นลิขสิทธิ์ของไอบีเอ็ม
หน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา และบริษัทใหญ่ๆ ที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์เมื่อสามสิบกว่าปีก่อน ใครๆก็ต้องใช้บริการของไอบีเอ็มทั้งนั้น เป็นยุคของคอมพิวเตอร์เมนเฟรม ซึ่งเป็นคอมพิวเตอร์เครื่องใหญ่ ราคาแพงมาก มีแต่สถาบันใหญ่ๆที่สามารถซื้อมาใช้ได้ บางแห่งก็เพียงแค่ขอเช่าใช้บริการ
ไอบีเอ็มในยุคนั้น แทบจะเรียกชื่อบริษัทแทนชื่อของคอมพิวเตอร์ได้เลย!!!
ผมโชคดีมีโอกาสได้สัมภาษณ์คุณชาญชัย จารุวัสตร์ หลายครั้ง ท่านเป็นอดีตกรรมการผู้จัดการของไอบีเอ็มประเทศไทยในยุคนั้น ได้ข้อมูลความรู้ใหม่ๆมากมาย
นอกจากข่าวในประเทศแล้ว ก็ต้องเสนอข่าวต่างประเทศด้วย แต่ข่าวสารในสมัยก่อนช้ามาก ยิ่งเป็นข่าวธุรกิจหรือเทคโนโลยีจะช้าเป็นพิเศษ ข่าวเป็นข้อมูลจากนิตยสารต่างประเทศ รายเดือน รายสิบห้าวัน หรือรายสัปดาห์ นิตยสารก็หายากและมีราคาแพง
ช่วงทศวรรษ 1980S เป็นช่วงที่ไอบีเอ็มดูเหมือนจะเป็นผู้นำที่ไร้เทียมทาน แต่เริ่มมีข่าวของนักเทคโนโลยีหนุ่มไฟแรงหลายคน คือ บิล เกตส์ และ พอล อัลเลน จากไมโครซอฟท์ สตีฟ จ็อบส์ และ จอห์น สกัลลี่ จากแอปเปิล
ทั้งไมโครซอฟท์ และแอปเปิล ในยุคนั้นยังเป็นบริษัทเล็กๆที่มีไอเดียดีแต่มีทุนไม่มาก เป็นยุคเริ่มต้นของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ซึ่งยักษ์ใหญ่ไอบีเอ็มไม่ค่อยให้ความสนใจ เลยกลายเป็นช่องว่างในตลาดให้กับผู้มาใหม่อย่าง บิล เกตส์ และ สตีฟ จ็อบส์
แต่ บิล เกตส์ ของไมโครซอฟท์ โดดเด่นกว่ามาก และจับทางการตลาดได้ถูกในฐานะเป็นผู้ผลิตซอฟท์แวร์ เริ่มจากระบบปฏิบัติการ Ms-Dos และตามมาด้วย Microsoft Windows
คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเมื่อประมาณสามสิบปีก่อนเกือบทุกเครื่อง ต้องเสียค่าหัวคิวใช้ Operating System ของ Microsoft เป็นผลทำให้ต่อมา บิล เกตส์ กลายเป็นเศรษฐีที่รวยที่สุดในโลก
ไอบีเอ็มเริ่มเข้าสู่ตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลในปี 1981 และได้วางมาตรฐานให้กับระบบคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล
เครื่องคอมพิวเตอร์ในยุคนั้น ถ้าไม่ใช่แบรนด์ไอบีเอ็มก็จะเรียกว่า IBM Compatible ใช้โปรแกรมแบบเดียวกับไอบีเอ็มได้หมด ซึ่งผู้ที่ทำโปรแกรมให้ คือ ไมโครซอฟท์
สรุปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ของไอบีเอ็มหรือค่ายไหนก็ต้องเสียเงินค่าโปรแกรมให้กับไมโครซอฟท์ทุกราย
ส่วนแอปเปิล ของ สตีฟ จ็อบส์ แม้จะมีชื่อเสียงดีเรื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้ง่ายแบบเครื่องแม็ค ของแอปเปิล ก็ยังมีส่วนแบ่งตลาดไม่มากนัก และมีโปรแกรมคอมพิวเตอร์หลายส่วนที่ บิล เกตส์ เป็นผู้พัฒนาให้ด้วย
ตอนที่ไอบีเอ็มเริ่มบุกตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลใหม่ๆ เอาบุคลิกของชาลี แชปปลิ้น ที่ดูเชยมากๆมาใช้เป็นแบบโฆษณา ผมเคยถามคุณชาญชัย จารุวัสตร์ ว่าทำไมเลือก ชาลี แชปปลิ้น มาเป็นพรีเซ็นท์เตอร์ คนเชยๆมันดูขัดกับเรื่องเทคโนโลยีที่ทันสมัย เอ็มดีไอบีเอ็มประเทศไทยในยุคนั้นตอบว่า ต้องการสื่อความหมายว่าแม้แต่คนที่ดูเฉิ่มๆเชยๆก็ใช้คอมพิวเตอร์ได้ ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอะไร จะได้มีคนหันมาใช้คอมพิวเตอร์กันมากขึ้น ฟังดูก็เข้าท่าดีและสื่อความหมายได้ลึกซึ้งจริงๆ
ในวันนั้น ใครๆก็คิดตรงกันว่า ไอบีเอ็มต้องเป็นเจ้าตลาดแน่ๆ พวกบริษัทคอมอื่นๆต้องโดนกินรวบ หรืออยู่ได้แบบแกรนๆ
แต่เหตุการณ์มันเป็นไปทางตรงกันข้าม!!!
IBM PC เปิดตัวในปี 1981 เริ่มขายในปี 1982 และต่อมาในปี 1992 ก็ออก ThinkPad laptop หรือคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค
ปรากฏว่า ในปี 1993 ไอบีเอ็มมียอดขาดทุน 8,000 ล้านดอลลาร์ ในตอนนั้นถือว่าเป็นยอดขาดทุนที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์บริษัทอเมริกัน!!!
สาเหตุความล้มเหลว สรุปง่ายๆ คือ สินค้าไม่คุ้มราคา สามารถหาซื้อสินค้าของคู่แข่งในราคาถูกกว่ามากๆในประสิทธิภาพที่เหมือนๆกัน
พีซีเครื่องแรกของไอบีเอ็มที่เปิดตัวในปี 1981 มีราคาเริ่มต้นที่ 1,565 ดอลลาร์ หรือเมื่อปรับอัตราเงินเฟื้อแล้ว ในยุคนี้เทียบได้เท่ากับ 4,100 ดอลลาร์ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 134,480 บาท
ในที่สุด ไอบีเอ็มที่เคยเป็นสัญลักษณ์ของคอมพิวเตอร์โลก ก็เสียตำแหน่งผู้นำเทคโนโลยีไปจริงๆ!!
ปัจจุบันไม่มีคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลของไอบีเอ็มแล้ว ปี 2005 ไอบีเอ็มขายกิจการพีซีให้กับ Lenovo ของจีน
ตั้งแต่ยุค 1990S ผู้นำโลกคอมพิวเตอร์อยู่ในมือของ บิล เกตส์ แห่งไมโครซอฟท์ เกือบจะผูกขาดความเป็นเจ้าตลาดแต่ผู้เดียว เคยโดนรัฐบาลอเมริกาทำท่าจะเข้าเล่นงานเรื่องการผูกขาดอยู่หลายครั้ง ผู้ใช้คอมพิวเตอร์เกือบทุกรายในยุคนั้นต้องใช้ระบบปฏิบัติการและโปรแกรมของไมโครซอฟท์เป็นหลัก
บิล เกตส์ และ สตีฟ จ็อบ เป็นทั้งคู่ค้าและคู่แข่งระหว่างกัน ทั้งรักทั้งเกลียดกันเป็นช่วงๆ
ตอนที่ บิล เกตส์ ออก Microsoft Windows สตีฟ จ็อบ เห็นแล้วโกรธมาก กล่าวหาว่ามาช่วยทำงานให้ Apple แต่มาขโมยไอเดียไปออกสินค้าเลียนแบบ
แม้ว่าครั้งแรกที่ บิล เกตส์ ได้เห็นแนวคิดการทำงานแบบ Window จากสิ่งที่ Apple แสดงให้ดูก็จริง แต่ที่จริงแล้ว การเปิดได้หลายหน้าต่าง ใช้เม้าส์คลิกไอคอนเปิดโปรแกรมต่างๆได้ มีต้นตำรับมาจาก Xerox
มีอยู่ช่วงหนึ่งที่แอปเปิลทำท่าจะแย่กลายเป็นเรือจมหมดหนทาง สตีฟ จ็อบ เคยขอความช่วยเหลือจาก บิล เกตส์
ไมโครซอฟท์ในตอนนั้น ก็อยากเห็นแอปเปิลยังคงเป็นคู่แข่งตัวเล็กๆอยู่ในตลาดต่อไป เพื่อจะได้ลดข้อครหาเรื่องการผูกขาดตลาดของ ไมโครซอฟท์
ทศวรรษที่ 1990S เป็นยุคของไมโครซอฟท์ที่ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์แทนที่ไอบีเอ็มอย่างชัดเจน และเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ใครๆก็คิดว่า ไมโครซอฟท์ต้องเป็นบริษัทที่ไร้เทียมทานแน่ๆ!!!
แต่ในที่สุด ก็มีจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญอีกครั้งในปี 2007 คือวันที่ สตีฟ จ็อบ ออกมาเปิดเผยสินค้าใหม่ไอโฟน และทำให้แอปเปิลกลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดในปัจจุบัน
แอปเปิลกลายเป็นเบอร์หนึ่งของโลกที่เหนือกว่าอดีตผู้นำทั้งไมโครซอฟท์และไอบีเอ็ม!!!
ไม่มีใครเป็นผู้นำได้ตลอดไป ความไม่แน่นอนคือสิ่งที่แน่นอน โลกหมุนอยู่ทุกวัน
แม้ว่าแอปเปิลจะเป็นบริษัทมูลค่าเกินหนึ่งล้านล้านดอลลาร์รายแรกของโลกในปี 2018 แต่ก็เหงาอยู่ไม่นาน มีอเมซอนตามหลังมาเป็นบริษัทที่มีมูลค่าเกินหนึ่งล้านล้านดอลลาร์แล้วเช่นกัน
นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังเชื่อด้วยว่า อเมซอนจะแซงหน้าแอปเปิลขึ้นเป็นบริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลกภายในปี 2018
เจฟฟ์ เบโซส นายใหญ่อเมซอน เคยให้สัมภาษณ์ว่า ดูจากประวัติศาสตร์แล้ว ไม่มีใครเป็นผู้ยิ่งใหญ่ตลอดกาล ไม่มีเบอร์หนึ่งตลอดไป แค่ทำให้บริษัทมีอายุยืนยาวไม่มีวันตายก็แทบจะเป็นไปไม่ได้
เจฟฟ์ เบโซส บอกว่า ถ้าอเมซอนจะตกต่ำลงไปจากวันนี้ ขอภาวนาให้เป็นช่วงที่เขาลาโลกไปแล้ว จะได้ไม่ต้องอยู่ดูให้ช้ำใจ
กระแสใหม่ของคอมพิวเตอร์ที่จะมีการพลิกโฉมเปลี่ยนโลกอีกครั้ง ทุกสำนักลงความเห็นตรงกันว่าจะเป็นยุคของคอมพิวเตอร์ AI
ที่จริง AI ไม่ใช่เรื่องใหม่ โลกรู้จักมาตั้งแต่ปี 1956 มีความพยายามพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง แต่ดูเหมือนจะเจอแต่หนทางตีบตัน จนกระทั่งถึงปี 2012 ถึงเริ่มมีการค้นพบความก้าวหน้าครั้งสำคัญที่เรียกว่า Deep Learning เป็นความพยายามเลียนแบบระบบประสาทเหมือนความคิดมนุษย์ แม้จะไม่เหมือนกันทั้งหมดแต่ถือว่าเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญของโลกคอมพิวเตอร์
AI ที่เป็น Deep Learning ไม่ใช่โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เราสั่งให้เครื่องทำงานอย่างเป็นขั้นเป็นตอนแบบเครื่องจักร แต่ใช้การป้อนข้อมูลจำนวนมากๆเข้าไป แล้วบอกให้มันรู้ว่าอะไรเป็นอะไร ถูกผิดเป็นอย่างไร แล้วให้มันคิดหาคำตอบออกมาเอง
ยกตัวอย่างเช่น ระบบการให้เครดิต จะไม่มีการบอกว่าปัจจัยในการพิจารณาให้สินเชื่อต้องดูจาก เงินทุน ความสามารถในการหาเงิน คุณสมบัติส่วนตัว หลักทรัพย์ค้ำประกัน ฯลฯ ไม่มีการโปรแกรมคำสั่งเหล่านี้ แต่เอาข้อมูลเก่าที่มีอยู่ทั้งหมดป้อนเข้าเครื่อง บอกให้เครื่องรู้ว่า รายไหนยืมเงินแล้วคืน รายไหนยืมแล้วไม่คืน รายไหนคืนช้า ฯลฯ คอมพิวเตอร์ AI จะหาทางหาคำตอบของมันเอง มันบอกได้ว่าผู้ขอกู้เงินรายใหม่ ควรจะให้กู้หรือไม่ มันเอาข้อมูลใหม่ไปเทียบกับข้อมูลเก่าจำนวนมากว่าสถิติเป็นอย่างไร ซึ่งพิสูจน์ชัดเจนแล้วว่า AI ทำงานมีประสิทธิภาพเหนือกว่าและรวดเร็วกว่าการประเมินด้วยคน
เหตุการณ์สำคัญที่เรียกว่าเป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญที่ทำให้ทั่วโลกเห็นศักยภาพของคอมพิวเตอร์ AI เกิดขึ้นในช่วงปี 2015-2016 ซึ่ง Deep learning ของ Google ไปแข่งขันเล่นเกมหมากล้อมหรือ เกมโกะ แล้วเอาชนะแชมป์โลกเกมหมากล้อมได้ คอมพิวเตอร์ AI เรียนรู้การเล่นเกมอายุนับพันปีในเวลาเพียง 7 วัน
ในวันที่คอมพิวเตอร์ AI แข่งขันเกมหมากล้อมกับแชมป์โลกชาวจีน นักวิทยาศาสตร์นักคอมพิวเตอร์ชั้นนำของจีนมารวมตัวอยู่พร้อมๆกันเพื่อร่วมพิสูจน์ศักยภาพของ AI ด้วยตัวเอง
ความพ่ายแพ้ต่อคอมพิวเตอร์ AI ทำให้ภาครัฐบาลและยักษ์ใหญ่ไฮเทคจีนทุ่มเงินมหาศาลให้กับการวิจัยและพัฒนา
จีนใช้เวลาเพียง 2 ปี พัฒนา AI ให้ก้าวหน้าได้อย่างเหลือเชื่อ เหตุผลใหญ่เป็นเพราะมีข้อมูลจำนวนมากที่เปรียบเสมือนเป็นเชื้อเพลิงดีๆให้กับ AI
ยักษ์ใหญ่และผู้มาใหม่ทั้งรายเล็กรายใหญ่จากจีนและอเมริกา ต่างมุ่งไปในทิศทางเดียวกัน
AI มีการพัฒนาไปสู่สาขาใหม่ๆมากมาย
เจ้าตลาดหรือผู้นำคอมพิวเตอร์ในอดีตเริ่มจาก เมนเฟรมคอมพิวเตอร์ มาเป็นคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล แล้วก็ถึงยุคของคอมพิวเตอร์ในมือถือ
แต่ในยุคใหม่ที่กำลังจะถึงนี้ จะกลายเป็น IoT อุปกรณ์ทุกอย่างสามารถทำหน้าที่เหมือนคอมพิวเตอร์ แถมยังเป็น AI ที่มีความฉลาดเหนือมนุษย์ด้วย
อินเตอร์เน็ต 5G ที่จะแพร่หลายใน 1-2 ปีข้างหน้า จะเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ
ตามความเห็นส่วนตัว ถ้าจะให้เดาว่าผู้นำเทคโนโลยีในทศวรรษหน้าจะเป็นใคร ผมขอเลือกแทงข้าง Google ไว้ก่อน
ในทศวรรษหน้า จะเป็นยุคของคอมพิวเตอร์ติดล้อ ถ้าติดตามข่าวการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีแนวโน้มสูงมากที่กูเกิลจะเป็นผู้นำตลาดรถไร้คนขับ และนั่นอาจหมายถึงตำแหน่งผู้นำเทคโนโลยีรายใหม่ของโลกด้วย!!!
.