Greenpeace แนะนำแนวทางการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศแบบให้ถึงรากเหง้าของปัญหาแบบเข้าใจง่ายๆตรงไปตรงมาว่า เลิกใช้ถ่านหิน เลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล แล้วหันไปใช้พลังงานทดแทนที่เป็นพลังงานสะอาด
แผนการระยะสั้นที่ต้องรีบลงมือทำทันที คือ
-เปลี่ยนผ่านจากการใช้เชื้อเพลิงถ่านหิน สู่แหล่งพลังงานสะอาด เช่น โซลาร์ และลม
-โรงไฟฟ้าต่างๆต้องมีการควบคุมค่ามลพิษอย่างจริงจัง
-การสร้างโครงการหลักต่างๆของชุมชน ต้องนำเรื่องคุณภาพอากาศมาพิจารณาร่วมด้วย
ปัญหามลพิษทางอากาศจะมีมากเป็นพิเศษในช่วงอากาศปิดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูหนาว ประเทศไทยในช่วงนี้กำลังมีปัญหาเรื่องอากาศเป็นพิษกลายเป็นข่าวดังอยู่ในสำนักข่าวต่างๆทั่วโลก ปัญหานี้จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่เป็นหนึ่งในรายได้หลักของประเทศไทย
กรุงเทพฯและปริมณฑลรวมถึงจัดหวัดใกล้เคียงเกือบทุกพื้นที่มีปัญหาเรื่องคุณภาพอากาศ เมื่อเอาข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษซึ่งรายงานสถานการณ์และคุณภาพอากาศประเทศไทยมาวิเคราะห์ก็พอสรุปได้ว่าปัญหามาจากไหน
สมุทรสาคร สมุทรปราการ ซึ่งเป็นแหล่งที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก โรงงานมีส่วนในการปล่อยมลพิษออกมามาก
ย่านที่มีการก่อสร้างมาก มีฝุ่นละอองมาก จะได้รับผลกระทบเรื่องฝุ่นมากเป็นพิเศษ
ถนนที่มีการจราจรติดขัด รถวิ่งจำนวนมาก มีควันเสียจากรถยนต์มากกว่าที่อื่น
แหล่งที่ตั้งของโรงไฟฟ้าทุกแห่งมีค่าฝุ่นที่เป็นมลพิษทางอากาศมากเป็นพิเศษ ดูตัวอย่างเพื่อเปรียบเทียบค่าฝุ่นได้จากการตรวจสอบล่าสุดช่วงประมาณ 5.00 น. ของวันที่ 31-01-2019
-การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย…175
-โรงไฟฟ้าย่อย ธนบุรี…………………….162
-กรมประชาสัมพันธ์……………………….162
-การเคหะชุมชนคลองจั่น………………..153
-โรงพยาบาลจุฬา…………………………151
-สถานีตำรวจนครบาลโชคชัย…………..139
-โรงเรียนบดินทรเดชา……………………134
มีกรณีศึกษาการต่อสู้เพื่อแก้ปัญหามลพิษทางอากาศที่เห็นผลชัดเจนที่สุดจากประเทศจีน ซึ่งเริ่มต้นทำอย่างจริงจังในปี 2014 ผ่านไป 4 ปี ถึงปี 2018 ได้เห็นผลการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนขึ้น โดยเฉลี่ยแล้วคุณภาพอากาศดีขึ้นถึง 32%
ในพื้นที่ซึ่งมีปัญหามลพิษหนักๆอย่างปักกิ่ง จะไม่ยอมให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ที่ใช้พลังงานถ่านหิน ส่วนโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ก่อนแล้วถูกบังคับให้มีการควบคุมเรื่องการปล่อยมลพิษให้เหลือน้อยลง ถ้าไม่สามารถทำได้ต้องเปลี่ยนไปใช้ก๊าซธรรมชาติ เมืองใหญ่หลายแห่งมีการจำกัดจำนวนรถที่วิ่งในหลายถนน จีนลดจำนวนการผลิตเหล็ก มีการสั่งปิดเหมืองถ่านหินหลายแห่ง
จีนมีแผนการเป็น Action Plan ที่มีกำหนดเวลาและแนวทางปฏิบัติอย่างชัดเจน เป็นสงครามต่อสู้อากาศพิษเพื่อสร้างท้องฟ้าสีฟ้าให้กลับคืนมา โรงงานอุตสาหกรรมและบ้านเรือนที่เคยใช้พลังงานถ่านหินจำนวนมากถูกบังคับให้ทำการเปลี่ยนแปลง ห้ามใช้ Coal Boiler อีกต่อไป
ประเทศจีนสนับสนุนให้มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มที่ ในปัจจุบันเป็นประเทศที่มียอดขายรถอีวีมากที่สุดในโลก ปี 2018 ที่ผ่านมา จีนขายยานยนต์ไฟฟ้าได้ 1.26 ล้านคัน และในปี 2019 น่าจะมียอดขายรถอีวีเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 ล้านคัน
แม้ว่าจีนจะเป็นประเทศที่ใหญ่มาก แต่ในระยะยาวแล้วมีแนวโน้มที่จะเกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ที่ใช้พลังงานสะอาดได้เร็วที่สุดในโลก
วันนี้จีนมีโรงงานผลิตรถยนต์และบริษัทสตาร์ทอัพที่สามารถผลิตรถอีวีมากถึง 500 แห่ง เมื่อตั้งไลน์การผลิตสมบูรณ์ ทุกแห่งรวมๆกันสามารถผลิตรถอีวีได้มากถึง 20 ล้านคันต่อปี โดยปี 2018 ที่ผ่านมาจีนมียอดขายรถยนต์ทุกชนิดรวมกันเท่ากับ 22.3 ล้านคัน
เมื่อ 3-4 ปีก่อน พวกเราคนไทยได้ข่าวเรื่องอากาศพิษในประเทศจีน ไม่ค่อยมีใครใส่ใจเท่าไร เห็นเป็นเรื่องไกลตัว แต่ 2-3 ปีที่ผ่านมานี้มันกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวที่คนไทยส่วนใหญ่รู้สึกได้ และมีตัวอย่างวิธีการแก้ปัญหาให้เห็นอยู่แล้ว
ปัญหาอากาศเป็นพิษในไทยมันเห็นต้นตอของปัญหาอย่างชัดเจนอยู่แล้ว ถ้าอยากเห็นคุณภาพอากาศดีขึ้น น่าจะเอาแนวทางของจีนมาใช้ เช่น
-เลิกสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่
-โรงไฟฟ้าแห่งใหม่ทั้งขนาดใหญ่และเล็ก ต้องใช้พลังงานทดแทนที่เป็นพลังงานสะอาด
-ควบคุมการปล่อยมลพิษของโรงไฟฟ้าถ่านหินเดิมที่มีอยู่ให้ลดต่ำลง หากทำไม่ได้ให้เปลี่ยนไปใช้ก๊าซธรรมชาติที่มีมลพิษน้อยกว่า
-สนับสนุนให้มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ลดภาษีผู้ซื้อ ลดหย่อนภาษีโรงงานรถยนต์ที่ผลิตรถอีวี
-เข้มงวดเรื่องค่ามลพิษทางอากาศที่ปล่อยมาจากโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ
ไม่ต้องไปถามผู้เชี่ยวชาญที่ไหนอีกแล้ว ใครๆก็รู้ว่าจะแก้ปัญหาระยะยาวได้อย่างไร ภาครัฐฯต้องเป็นผู้ลงมือทำเพื่อให้เกิดผลในวงกว้าง
แต่ภาคประชาชนก็คงคาดหวังว่าอะไรไม่ได้มาก มันมีอุปสรรคที่ทำให้ทำไม่ได้ หรือไม่อยากทำอยู่มากมาย….
http://www.greenpeace.org/eastasia/campaigns/air-pollution/solutions/
http://air4thai.pcd.go.th/webV2/station.php?station=61t
https://insideevs.com/china-too-many-electric-cars/