อดีตนายกฯ ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นผู้สั่งการปิดป่าในปี 2532 เพื่อป้องกันภัยพิบัติซ้ำซากในประเทศไทย เราได้รับการยกย่องจากนานาประเทศว่าการรักษาป่าไม้เอาไว้ ช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลก
ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมันตรีของประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม 2531 – 23 กุมภาพันธ์ 2534 ระยะเวลารวม 2 ปี 203 วัน โดนถอดออกจากตำแหน่งนายกฯเพราะถูกยึดอำนาจโดยทหาร ภายใต้การนำของ พล.อ. สุนทร คงสมพงษ์ ซึ่งเป็นพ่อของ พล.อ. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบกคนปัจจุบัน
นโยบายเด่นในสมัยอดีตนายกชาติชาย คือ เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า แต่ก็มีข้อครหาว่ามีการคอรัปชั่นกันมาก ถูกตั้งฉายาว่าเป็น บุฟเฟ่ต์คาบิเนต
นอกจากเป็นนักการเมืองที่ก้าวถึงตำแหน่งสูงสุดแล้ว น้าชาติยังเป็นอดีต ทหาร นักการทูต เพลย์บอย และนักธุรกิจ เป็นคนที่มีส่วนอย่างมากในการผลักดันให้ประเทศไทยโดดเด่นทางด้านเศรษฐกิจ
ก่อนหน้าน้าชาติจะโดนทหารยึดอำนาจ นักวิเคราะห์ทั่วโลกในยุคนั้นคาดหมายว่าประเทศไทยจะเป็นเสือตัวที่ 5 ของเอเชีย อยู่ในระดับเดียวกับ เกาหลีใต้ ฮ่องกง สิงคโปร์ และไต้หวัน
ประเทศไทยค่อนข้างโชคร้าย ช่วงเวลาที่ดูเหมือนเศรษฐกิจกำลังจะก้าวหน้าไปได้ดีด้วยรัฐบาลพลเรือน ก็มักจะโดนทหารยึดอำนาจ ทำให้ต้องหยุดชะงักและเดินถอยหลังไปหลายปี
เขียนเรื่องปิดป่าเมื่อสามสิบปีก่อน ทำให้คิดถึงเรื่องเก่าอีกเรื่องที่เคยเขียนในเพจนี้แล้ว เป็นเรื่องของการหางบประมาณในการสร้างสะพานมิตรภาพไทยลาว 2 (มุกดาหาร – สะหวันนะเขต) เป็นเรื่องเล่าหลังไมค์ที่สื่อมวลชนในยุคนั้นเคยเอามาเล่ากันสนุกๆ
สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 เป็นสะพานที่เชื่อมต่อจังหวัดมุกดาหารของประเทศไทยกับแขวงสุวรรณเขตของลาว เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางเศรษฐกิจตะวันตกตะวันออก ซึ่งเริ่มจากพม่าผ่านไทยลาวและสิ้นสุดที่เวียดนาม
สะพานมีความยาวทั้งหมด 1,600 เมตร กว้าง 12 เมตร มีช่องการจราจร 2 ช่อง มูลค่าการก่อสร้างประมาณ 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ช่วงก่อนเริ่มสร้างสะพาน อดีตนายกชาติชาย ชุณหะวัณได้คุยกับรัฐบาลญี่ปุ่นเพื่อขอกู้ยืมเงินมาก่อสร้างสะพาน น้าชาติไปบอกกับนายกญี่ปุ่นว่า…..
“เราต้องการสร้างสะพานให้ญี่ปุ่นที่มุกดาหาร”
นายกญี่ปุ่นทำท่างงๆ ผงกหัวหลายครั้งแล้วถามน้าชาติว่า….
“ช่วยอธิบายหน่อย ไม่เข้าใจเลย สะพานอยู่ในประเทศไทยกับลาว ทำไมถึงเป็นสะพานของญี่ปุ่น?!?”
น้าชาติบอกว่า “เวลาสะพานสร้างเสร็จ รถที่วิ่งข้ามสะพานนี้ มีแต่ โตโยต้า อิซูซุ ฮีโน นิสสัน มิตซูบิชิ เป็นรถของญี่ปุ่นทั้งนั้น เราสร้างสะพานให้รถญี่ปุ่นวิ่ง”
นายกญี่ปุ่นได้ฟังแล้วชอบใจมาก โค้งคำนับถี่ๆอีกหลายครั้ง ยอมอนุมัติเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำช่วยสนับสนุนสร้างสะพานแห่งนี้ด้วยความเต็มใจ
สรุปแล้วรัฐบาลญี่ปุ่นให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำกับรัฐบาลไทย 4,079 ล้านเยน และกับรัฐบาลลาว 4,011 ล้านเยน
อาศัยภูมิหลังของน้าชาติที่เป็นนักการทูตมานาน ทำให้โครงการนี้สำเร็จไปได้อย่าง….. “ไม่มีปัญหา” “No Problem”
.