WHO รายงานแหล่งที่มามลพิษ PM2.5 จราจร อุตสาหกรรม เชื้อเพลงฟอสซิล

ฝุ่นพิษหรือฝุ่นละอองที่มีค่า PM2.5 มีผลต่อระบบทางเดินหายใจ ผิวหนัง และดวงตา ความรุนแรงของปัญหาจะส่งผลต่อสุขภาพและเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งในปอด

สำหรับข้อมูลแหล่งที่มาของมลพิษทางอากาศ PM2.5 ที่นำเสนอคราวนี้ได้มาจาก WHO หรือ World Health Organization ซึ่งเป็นผลการวิจัยที่ได้ข้อมูลมาจากทั่วโลก

องค์การอนามัยโลกมีข้อสรุปชัดเจนว่าปัญหาจราจรเป็นปัญหาใหญ่ที่สุด มีส่วนทำให้เกิดอากาศพิษทั่วโลก

จากแหล่งที่เก็บรวบรวมข้อมูล 419 แห่ง ใน 51 ประเทศ ได้ค่าเฉลี่ยทั่วโลกแหล่งที่มาของฝุ่นพิษ PM2.5 ในเขตเมืองมีสัดส่วนตามนี้ คือ

-การจราจร……………………………..25%

-ไม่สามารถระบุ……………………… 22%

-การเผาเชื้อเพลิงภายในประเทศ… 20%

-ฝุ่นและเกลือจากธรรมชาติ………..18%

-กิจกรรมทางอุตสาหกรรม………….15%

เมื่อนับเฉพาะพื้นที่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย ค่าเฉลี่ยถึงแหล่งที่มาของฝุ่นพิษ PM2.5 ในเขตเมือง มีสัดส่วนตามนี้ คือ

-การจราจร……………………………..36%

-การเผาเชื้อเพลิงภายในประเทศ….19%

-กิจกรรมทางอุตสาหกรรม…………..18%

-ฝุ่นและเกลือจากธรรมชาติ…………14%

-ไม่สามารถระบุ……………………….13%

การจราจรที่เป็นปัญหาใหญ่ของฝุ่นพิษมาจากไอพิษจากยานยนต์ต่างๆ การเผาไหม้ของน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นที่มาหลักของ PM2.5 มันปล่อยออกมามากมายบนถนนและผสมกับฝุ่นละอองที่กระจายไปทั่ว

ปัญหาจราจรทำให้เกิดสัดส่วนของ PM2.5 มากทั่วโลก เช่น India 37%, South Eastern Asia 36%, Southern Asia 34%, Southwestern Europe 35%, Brazil 34%

การเผาเชื้อเพลิงภายในประเทศซึ่งทำให้เกิดปัญหามลพิษ หมายถึงการเผา ไม้ ถ่านหิน ก๊าซ เพื่อทำอาหารหรือทำความร้อน ในหลายพื้นที่มีการใช้ไม้หรือถ่านหินเพื่อใช้ในการทำความร้อนภายในบ้าน บางประเทศมีการเผาพื้นไร่เพื่อการเกษตร

กิจกรรมทางอุตสาหกรรมก็มีส่วนสร้างปัญหามลพิษในหลายประเทศ เป็นมลพิษจากการเผาไหม้น้ำมัน เผาถ่านหินในโรงไฟฟ้า และยังมีควันพิษจากอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ปิโตรเคมี โลหะ เซระมิก ยา ฮาร์ดแวร์ทางด้านไอที ในหลายๆโอกาส ฝุ่นพิษจากอุตสาหกรรมได้รวมอยู่กับแหล่งการเผาไหม้ที่ไม่สามารถระบุที่มาหรือเข้าไปอยู่รวมกับปัญหาจราจร

แหล่งธรรมชาติอย่าง ฝุ่นจากพื้นดินและเกลือจากทะเลก็เป็นหนึ่งในสาเหตุของฝุ่น PM2.5 มีปัญหามากเป็นพิเศษในเขตทะเลทรายและพื้นที่ชายฝั่งต่างๆ

ส่วนแหล่งที่มาของ PM2.5 ซึ่งไม่สามารถระบุเจาะจงได้แต่เป็นผลจากฝีมือมนุษย์ เช่น ฝุ่นจากเครื่องจักร ควันพิษจากขี้เถ้าที่เผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลในโรงไฟฟ้าถ่านหิน

แนวทางการรับมือกับปัญหามลพิษในอากาศที่รัฐบาลนำออกมาใช้ในช่วงนี้ เช่น ปิดโรงเรียน ฉีดน้ำขึ้นไปในอากาศ ให้คนใส่หน้ากาก ขอร้องให้ใช้รถน้อยลง ตรวจควันดำ ฯลฯ มันคงแก้ปัญหาอะไรไม่ได้มากนัก เป็นเพียงแค่บรรเทาให้กระทบน้อยลงเท่านั้น

ปัญหาใหญ่ที่ทำให้เกิดมลพิษในอากาศในประเทศไทยจำนวนมาก มาจากปัญหาจราจร รถยนต์ปล่อยมลพิษมาก และกรุงเทพฯยังได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่รถติดมากที่สุดในโลกด้วย เมืองใหญ่หลายเมืองในประเทศไทยก็เริ่มมีปัญหารถติดกันมากแล้ว

ปัญหามลพิษในอากาศไม่ใช่เรื่องใหม่ของโลก เกิดขึ้นในหลายประเทศมาก่อน มีตัวอย่างแนวทางการแก้ปัญหามากมาย ถ้าภาครัฐเห็นแก่ประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่อย่างแท้จริง ต้องมีทางออกดีกว่านี้แน่ๆ….

https://www.who.int/quantifying_ehimpacts/global/source_apport/en/

https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S1352231015303320

 

Leave a Reply