เมื่อประมาณ 3-4 ปีก่อน โรงงานผลิตอาหารแบบดั้งเดิมในจีนมากกว่า 10 แห่ง ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลจีนในโครงการนักชิม AI ซึ่งผลจากการพัฒนาครั้งนั้นได้สร้างกำไรมหาศาลกับผู้ร่วมโครงการทุกราย
นับตั้งแต่ปี 2015 AI ได้ช่วยทำให้โรงงานอาหารเหล่านี้กำไรมากกว่า 300 ล้านหยวน หรือมากกว่า 1400 ล้านบาท
อาหารที่หุ่นยนต์ช่วยชิมให้ เช่น หมูสามชั้น น้ำส้มสายชู เส้นหมี่ตากแห้ง ไวน์เหลืองจีน ชา ฯลฯ
น้ำส้มสายชูตราเจียงซูเหิงชุน ในเมืองเจิ้นเจียง มณฑลเจียงซู ซึ่งมีตลาดอยู่ใน 39 ประเทศ พบว่าในปี 2018 มีตัวเลขยอดขายเพิ่มขึ้น 1.8 พันล้านหยวน โดยมีข้อมูลยืนยันว่า หนึ่งในสามของรายได้ที่เพิ่มขึ้นเกิดจากนักชิม AI
หุ่นยนต์นักชิมช่วยทำให้ผลผลิตมากขึ้น คุณภาพได้รับการพัฒนาขึ้น และมีมาตรฐานแน่นอนขึ้น โดยรวมแล้วทำให้ต้นทุนการผลิตลดต่ำลง การสนับสนุนที่ได้รับจากเทคโนโลยีนี้ช่วยทำให้ไปตีตลาดนอกประเทศได้ง่ายขึ้น
หุ่นยนต์ AI ซึ่งเป็นเครื่องจักร เรียนรู้การทำงานได้โดยตรงตลอดสายการผลิต มอนิเตอร์ตรวจสอบตั้งแต่วัตถุดิบไปจนสิ้นสุดขบวนการผลิต มีการติดตั้งเซนเซอร์ไฟฟ้าคอยสอดส่องทุกขั้นตอน ทำหน้าที่ได้เหมือน ตา-จมูก-ลิ้น ของมนุษย์ โดยมีสมองที่เป็นอัลกอริธึมโครงข่ายประสาท ช่วยวิเคราะห์ ค้นหาเปรียบเทียบข้อมูลที่มีรูปแบบแตกต่างกันได้
การฝึกฝน AI ทำได้ด้วยการให้มันศึกษาจากผู้เชี่ยวชาญนักชิมอาหารที่เป็นคนจริง
ผู้ชิมอาหารเวลาเจอรสชาติอะไรที่แตกต่างกันจะมีการตอบสนองให้เห็นที่แตกต่างกัน แล้วปล่อยให้หุ่น AI ได้เรียนรู้ เช่น เจอรสเผ็ด คนชิมอาจจะอ้าปากกว้าง เป่าปากเหมือนเผ็ดร้อน เจอรสเค็มอาจทำท่าเหมือนหลับตาปี๋ เจอเปรี้ยวอาจกัดฟันแน่น ฯลฯ
เครื่องจักรสามารถตรวจสอบเพื่อสร้างความแน่ใจว่าตลอดสายการผลิต วัตถุดิบหรืออาหารที่ทำเสร็จ มี สี-กลิ่น-รสชาติ ถูกต้อง
หุ่นยนต์เรียนรู้จากปฏิกิริยาของมนุษย์ ดูร่วมกับข้อมูลทางประสาทสัมผัส เอาข้อมูลทุกอย่างมาผสมผสานเข้าด้วยกัน แล้วตัดสินใจแทนมนุษย์
งานควบคุมคุณภาพ ควบคุมรสชาติอาหารแบบนี้ เคยใช้คนทำทั้งหมด แต่ในปัจจุบันสามารถใช้เทคโนโลยีทำแทนคนได้ มันเก่งได้ประมาณ 90% ของงานที่ผู้เชี่ยวชาญเคยเป็นคนทำ แต่มันทำได้เร็วโดยใช้เวลาไม่ถึง 1 วินาที ทำงานได้อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยตลอดทั้งวันทั้งคืน
หุ่นยนต์ AI สามารถเป็นนักชิมอาหารแต่ละจานจากโรงงานได้ด้วย แต่จุดเริ่มต้นของการเรียนรู้จะมาจากคน หรือเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้
มีข้อถกเถียงกันว่าอาหารดั้งเดิมท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงหลายจานของจีน หากให้หุ่นยนต์เป็นผู้ตัดสินคัดกรอง มันจะทำได้ดีแค่ไหน
รัฐบาลเมืองหยางโจวในมณฑลเจียยงซู กำหนดไว้ว่าข้าวผัดหยางโจวที่มีชื่อเสียงโด่งดังต้องมี 5 สี คือ แดง เขียว เหลือง ขาว ส้ม และต้องมีรสเค็มมากกว่ารสหวาน
หมูหั่นกับซอสกระเทียมของมณฑลเสฉวนต้องมีความยาว 10 ซม.
มณฑลซานตง ซึ่งมีแค้วนหลิ่วบ้านเกิดของขงจื้อ มีข้อกำหนดกฎที่ชัดเจนไว้กับอาหาร 60 จาน
ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารหลายคนเชื่อว่า หุ่นยนต์ AI คงทำงานเทียบกับคนได้ยาก เมนูอาหารจีนจานหนึ่ง ให้พ่อครัวคนดัง 8 คนทำ รสชาติยังออกมาแตกต่างกันเลย
แต่วันนี้มันมีความก้าวหน้าไปมากจริงๆ ถ้าให้หุ่นยนต์ทำอาหารให้ มันสามารถทำเมนูแต่ละจานให้เป็นมาตรฐานที่เหมือนกันได้หมด
ถ้าอยากให้มันทำให้เมนูเดียวกันมีความแปลกแยกไปตามพ่อครัวมือดีแต่ละราย ก็สามารถปรับเปลี่ยนสูตรไปตามเคล็ดลับของพ่อครัวแต่ละคนได้เช่นกัน…
.