มะเร็งเป็นสาเหตุการตายอันดับสองของคนทั่วโลก นับเฉพาะปี 2018 มีคนตรวจพบว่าเป็นมะเร็งประมาณ 18.1 ล้านคน และมีคนตายจากมะเร็ง 9.6 ล้านคน
การค้นหายาที่มาต่อสู้กับโรคมะเร็งเป็นงานใหญ่ที่คนทั่วโลกต้องร่วมมือกันทำ
เมื่อวันที่ 20-07-2019 ไอบีเอ็มประกาศเปิดตัวโครงการใหม่ที่ได้พัฒนาขึ้นเป็น Open-Source รวม 3 โครงการ เป็นเทคโนโลยี AI ที่สามารถช่วยนักวิจัยทางการแพทย์ได้ใช้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับโรคมะเร็ง วันนี้เปิดให้ใช้ในวงกว้างแล้ว
สามโครงการนี้ คือ PaccMann, INtERAcT, PIMKL
PaccMann เป็น AI ที่มีระบบการเรียนรู้แบบ Deep Learning สามารถคาดคะเนสารประกอบบางอย่างที่ต้องการศึกษาว่าเป็นยาต้านมะเร็งได้หรือไม่
INtERAcT เป็นแพลตฟอร์มที่ใช้ AI ช่วยในการวิเคราะห์วารสารทางการแพทย์ต่างๆที่มีการตีพิมพ์ไปแล้ว พร้อมด้วยการอัปเดตที่สำคัญในสาขาวิชา แทนที่นักวิจัยจะต้องอ่านและศึกษาจากเอกสารจำนวนมาก เดี๋ยวนี้สามารถใช้ AI ช่วยค้นหาข้อมูลงานงานวิจัยต่างๆที่เกี่ยวข้องและมีการค้นพบแล้ว สามารถเอางานนั้นมาต่อยอดในการทำงาน ช่วยทำให้เกิดการพัฒนาที่ก้าวหน้าเร็วยิ่งขึ้น
PIMKL เป็น AI ที่ศึกษาเกี่ยวกับการรักษาโรคมะเร็งของคนไข้ ช่วยให้แพทย์สามารถปรับการดูแลคนไข้แต่ละรายให้สอดคล้องกับความจำเป็นที่แตกต่างกันของผู้ป่วยแต่ละราย
โครงการใหม่ของไอบีเอ็มจะช่วยทำให้ความคล่องตัวในการพัฒนาหายารักษามะเร็งของโลกทำได้เร็วยิ่งขึ้น ทุกคนสามารถเอาเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพนี้ไปใช้ได้โดยไม่ต้องเสียค่าลิขสิทธิ์ หมายถึงต้นทุนในการสร้างยาหรือวิธีการต่อสู้กับโรคมะเร็งที่ถูกลง
ช่วยทำให้ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และนักวิทยาศาสตร์สามารถติดตามงานวิจัยที่ตีพิมพ์ใหม่ๆและทำให้พัฒนาวิธีการรักษาได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
การประกาศต่อสู้กับมะเร็งครั้งนี้ของไอบีเอ็ม ถือว่าเป็นการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ของโลกโอเพ่นซอร์ส
หากมีผู้พัฒนาเทคโนโลยีอื่นๆเห็นพ้องด้วย และยอมให้มีโอเพ่นซอร์สแบบนี้มากขึ้น จะช่วยทำให้เกิดนวัตกรรมในสาขาแพทย์มากขึ้น เร่งให้เกิดการพัฒนาเร็วขึ้น
โลกกำลังเข้าสู่ยุคของ AI ที่ถูกใช้เพื่อการค้นพบทางการแพทย์ โดยขับเคลื่อนด้วยฝูงชนทางวิชาการจากทั่วโลกพร้อมๆกัน ประโยชน์สูงสุดจะเป็นของมนุษยชาติโดยรวม
https://www.ibm.com/blogs/research/2019/07/ai-tools-for-cancer-research/