หอคอยกักเก็บพลังงานแรงโน้มถ่วง ไร้แดด ไร้ลม ไร้ปัญหา จ่ายไฟ 24/7 ต้นทุนค่าไฟต่ำกว่า 1.86 บาท/หน่วย ซอฟท์แบงก์ลงทุนให้ 3,400 ล้านบาท

ในปัจจุบันเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า พลังงานที่มีต้นทุนต่ำที่สุด คือ โซลาร์ = 2 เซ็นต์ต่อหน่วย และกังหันลม = 3 เซ็นต์ต่อหน่วย

ปัญหา คือ แดดและลมไม่มีตลอดวันตลอดคืน แต่คนต้องใช้ไฟทั้งกลางวันและกลางคืน

การใช้แบตเตอรี่ในช่วงที่ไม่มีพลังงานสะอาดเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ต้นทุนเฉลี่ยเมื่อใช้คู่กัน อาจสูงกว่าใช้ ก๊าซธรรมชาติ หรือถ่านหิน

Energy Vault บริษัทสตาร์ตอัพสวิส มีทางออกสำหรับเพนพ้อยท์นี้ โดยการสร้างระบบกักเก็บพลังงานที่มีต้นทุนต่ำกว่าแบตเตอรี่ประมาณ 5 เท่า แต่เป็นหอคอยกักเก็บพลังงานที่ใช้แรงโน้มถ่วงโลกช่วยในการจ่ายพลังงาน

เป็นแนวคิดเดียวกับโรงไฟฟ้าที่มีเครื่องสูบน้ำไปที่สูงแล้วปล่อยให้น้ำไหลลงมาสร้างพลังงานให้เครื่องปั่นไฟ ตอนที่สูบน้ำขึ้นไปเป็นช่วงที่มีไฟฟ้าใช้เหลือเฟือหรือต้นทุนค่าไฟต่ำ ส่วนตอนที่ปล่อยน้ำไหลกลับมาเป็นช่วงที่ผู้คนต้องการใช้ไฟฟ้ามาก

แต่แทนที่จะเป็นน้ำ ก็เปลี่ยนมาเป็นอิฐรีไซเคิลที่ปล่อยดิ่งลงมาจากที่สูงโดยอาศัยแรงโน้มถ่วงโลก สร้างเป็นพลังงานให้เครื่องปั่นไฟ

ช่วงกลางวันมีแดดแรง มีพลังงานโซลาร์ต้นทุนถูกเกินความต้องการ สามารถเอาพลังงานราคาถูกนี้มาจ่ายเป็นพลังานไฟฟ้าให้เครน 6 ตัวช่วยกันยกอิฐขึ้นที่สูง ก่อขึ้นเป็นหอคอยสูง ใช้เซนเซอร์และซอฟท์แวร์ควบคุมการทำงานอย่างเป็นระบบ

ความสามารถในการจัดเก็บพลังงานมีหลายขนาด คือ 20-35-80 MWh และสามารถใช้งานโดยการจ่ายไฟ 4-8 MW อย่างต่อเนื่องสำหรับ 8-16 ชั่วโมง

ต้นทุนจากระบบจัดเก็บพลังงานหอคอยแรงโน้มถ่วง คือ 3.5 เซ็นต์ต่อหน่วย ต้นทุนค่าโซลาร์อีก 2.0 เซ็นต์ต่อหน่อย รวมแล้วเท่ากับ 5.5 เซ็นต์ต่อหน่วย หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 1.71 บาทต่อหน่วย

หมายความว่าหากมีการติดตั้งโซลาร์แล้วใช้ควบคู่กับกับหอคอยกักเก็บพลังงานนี้ ต้นทุนค่าไฟจะไม่เกิน 6 เซ็นต์ต่อหน่วย หรือ 1.86 บาทต่อหน่วย และมีไฟให้ใช้แบบ 24/7 หรือ 24 ชั่วโมงต่อวัน 7 วันต่อสัปดาห์

ต้นทุนสร้างหอคอยกักเก็บพลังงานขนาด 35 MWh มีราคาประมาณ 7 ล้านดอลลาร์ มีอายุการใช้งานนานกว่า 30 ปี Energy Vault แจ้งว่ามีบริษัทจากทุกทวีปทั่วโลกสั่งซื้อมาแล้วมากกว่า 1,000 แห่ง คิดเป็นรายได้ที่จะทำได้มากถึง 7,000 ล้านดอลลาร์

ฟังจากเจ้าของโครงการ คนทั่วไปอาจสงสัยว่ามันจะเป็นไปได้จริงหรือ แต่ตอนนี้ ซอฟท์แบงก์ กองทุนที่ให้เงินสนับสนุนสตาร์ตอัพที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้เข้าไปศึกษาแล้ว และเมื่อกลางเดือนสิงหาคม 2019 ได้ประกาศให้เงินสนับสนุนเป็นทุนดำเนินการมากถึง 110 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 3,400 ล้านบาท

ถ้าไม่มีการตรวจสอบว่าดีจริง กองทุนอย่างซอฟท์แบงก์คงไม่ยอมลงทุนด้วยแน่ๆ

Energy Vault เป็นสตาร์ตอัพด้านพลังงานแห่งแรกที่ซอฟท์แบงก์เลือกลงทุนด้วย

ไม่มีรายงานว่าหลังจากได้เงินทุนก้อนนี้แล้ว ทำให้บริษัท Energy Vault มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็นเท่าไร แต่ปีนี้กองทุน SoftBank มีกำไรจากการดำเนินงานกระโดดถึง 66% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว

ตัวเลขต้นทุนค่าไฟต่อหน่วยที่ Energy Vault แจ้งว่า ต่ำกว่า 6 เซ็นต์ต่อหน่วย ไม่ใช่เรื่องที่เกินเลยความจริง เมื่อปีที่แล้ว อีลอน มัสก์ ก็ยืนยันว่าจะขายไฟฟ้าที่เติมให้กับรถบรรทุกของเทสล่าไม่เกิน 7 เซ็นต์ต่อหน่วย

เจ้าของโครงการบอกว่ามีบริษัทจากทุกทวีปสั่งซื้อแล้วมากกว่า 1,000 แห่ง ไม่รู้ว่ามีประเทศไทยรวมอยู่ในกลุ่มนี้ด้วยหรือไม่??

About Us

https://www.cnbc.com/2019/08/14/softbank-vision-fund-invests-110-million-in-energy-vault.html

 

Leave a Reply