Facial Recoginition ระบุตัวตนในจีน เปิดเผยข้อมูลส่วนตัว เพื่อความสะดวก ถ้าไม่ได้ทำอะไรผิด ไม่มีอะไรต้องกลัว โลกตะวันตกหวงแหนความเป็นส่วนตัว

ในโลกตะวันตก ทั้งอเมริกาและยุโรป Facial Recognition ซึ่งใช้เทคโนโลยี AI สร้างระบบจดจำใบหน้าของผู้คนเพื่อระบุตัวตน กลายเป็นข้อถกเถียงเรื่องการรุกล้ำความเป็นส่วนตัว บริษัทเทคฯบางแห่งถูกฟ้อง รัฐบาลของบางรัฐในอเมริกา หรือบางประเทศในยุโรป ออกกฎหมายปรามไม่ให้ AI เข้ามาสอดส่องผู้คน

สำหรับประเทศจีน คนจีนมีทัศนะคติที่แตกต่างจากผู้คนในโลกตะวันตก ผู้คนไม่ได้กังวลว่า ระบบจดจำใบหน้าจะทำให้ความเป็นส่วนตัวของตัวเองมีปัญหา แต่กลับมองเห็นว่ามันช่วยทำให้ชีวิตประจำวันมีความสะดวกสบายมากขึ้น

คนจีนที่มองว่าตัวเองเป็นคนดี ปฏิบัติตามระเบียบของสังคม ไม่มีความจำเป็นที่ต้องกลัวความจริง

ประเทศจีนมีโครงการ Social Credit System เหมือนเป็นสมุดบันทึกความประพฤติของคนจีนทุกคนทั้ง 1,300 ล้านคน โดยตั้งเป้าว่าจะทำให้ใด้ภายในปี 2020

ตอนที่ได้ยินแผนการของรัฐบาลจีนครั้งแรก มองไม่ค่อยเห็นความเป็นไปได้ ไม่น่าเชื่อว่าจะทำได้ แต่วันนี้มันมีความก้าวหน้าชัดเจน และคนส่วนใหญ่เริ่มหายสงสัยในสิ่งที่จะเกิดขึ้นเกี่ยวกับ Social Credit System ในอนาคตแล้ว

คิวอาร์โค้ดเป็นมาตรฐานการจ่ายเงินในประเทศจีนที่กลายเป็นเรื่องปกติแล้ว

แต่วันนี้มีการพัฒนาระบบ Facial Recoginition ที่ AI เห็นหน้าคนก็รู้ว่าเป็นใคร สามารถเชื่อมโยงคนๆนั้นกับกระเป๋าเงินในบัญชีที่มีอยู่ได้ แค่เอาหน้าไปโชว์ให้กล้องเห็นและอาจมีการกดยืนยันบางอย่างเพิ่มเติม ก็สามารถทำให้การจ่ายเงินสมบูรณ์

การใช้เงินสดในประเทศจีนมันน้อยลงอย่างเด่นชัด ทำให้รัฐบาลจีนประหยัดการพิมพ์ธนบัตรหรือผลิตเหรียญไปได้มาก

ธนาคารกลางของจีนมีข่าวว่าจะออกเงินคริปโตที่มีค่าผูกติดกับเงินหยวน มีกำหนดออกในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน 2019 รูปแบบใกล้เคียงกับ Libra ของ Facebook

ค่ายเทคยักษ์ใหญ่จีน ทั้งอาลีบาบาและเทนเซ็นต์ เปิดช่องทางการจ่ายเงินของร้านค้าต่างๆโดยใช้ใบหน้าแสดงตัวตนจนเป็นเรื่องปกติในจีนแล้ว

เวลาแสดงตัวตนต่อกล้อง ต้องเห็นภาพเป็นสามมิติที่ AI สามารถตรวจสอบได้แน่ชัดว่าเป็นคนจริงๆ ใครใช้ภาพมาหลอกกล้องจะถูกจับได้ เวลามีข้อสงสัย ระบบอาจมีคำสั่งเพิ่มเติมให้ผู้ใช้งานแต่ละคนทำตาม เช่น ยิ้ม อ้าปาก หันหน้าด้านซ้ายหรือขวา ฯลฯ

ข้อมูลที่มีสะสมมากขึ้นทุกวัน ทำให้ AI ฉลาดขึ้น มีหน้าตาของผู้คนเก็บไว้ในระบบมากขึ้น ทำให้ฐานข้อมูลมีความสมบูรณ์ AI ได้เรียนรู้มากขึ้น ความผิดพลาดก็ลดน้อยลงอย่างชัดเจน

ในโลกตะวันตกที่กีดกัน AI อาจกลายเป็นความล้าหลังที่ทำให้ถูกเทคโนโลยีจีนทิ้งห่างไว้ข้างหลังในอนาคตอันใกล้

การระบุตัวตนในโลกดิจิตอลที่เคยใช้แค่ Password มันไม่มีความปลอดภัยมากพอ สามารถปลอมแปลงได้ง่าย หรือหลอกให้ระบบเปลี่ยนเป็น Password ใหม่ได้ไม่ยาก

การยืนยันตัวตนด้วยลายนิ้วมือหรือหน้า ซึ่งแสดงตัวตนเฉพาะบุคคลได้ มันปลอมแปลงหรือเปลี่ยนแปลงได้ยากกว่า

AI ระบบจดจำใบหน้าของจีน มองผ่านกล้องที่อยู่ไกลถึงสามกิโลเมตรก็ระบุตัวตนได้ถูกต้องว่าคนๆนั้นเป็นใคร

การนำ Facial Recognition ไปใช้ในประเทศจีน มีข่าวออกมาอย่างต่อเนื่อง เช่น

-จับและประจานคนไม่ข้ามถนนบนทางม้าลาย

-เข้าสถานีรถไฟ

-เข้าสมามบิน ตั๋วตรงกับผู้โดยสาร

-จ่ายเงินตามร้านสะดวกซื้อ

-ระบุตัวตนและจ่ายค่ารักษาในโรงพยาบาล

-จ่ายเงินด้วยใบหน้าตามร้านค้าที่มีระบบติดตั้งไว้ ไม่ต้องสแกนบาร์โค้ด แต่สแกนใบหน้าเพื่อจ่ายเงิน

-กดเอทีเอ็มกับตู้โดยใช้ใบหน้า ระบุหมายเลขบัตรประชาชน หรือโทรศัพท์ให้ตรงกัน

-สถาบันศึกษาตรวจนับเวลาเรียน ดูความตั้งใจเรียนของนักเรียนหรือนักศึกษาแต่ละคน ใครมาเข้าเรียนหรือเข้าสอบแทน

-สแกนตรวจหาคนร้ายในที่ชุมชน

โลกมีสองด้านเสมอ ถ้ามอง AI และเทคโนโลยีจดจำใบหน้าเป็นด้านลบมันก็มีแน่ เช่น

-ผู้มีอำนาจที่ฉ้อฉลสามารถเอาไว้กลั่นแกล้งศัตรูได้

-การโดนจับจ้องอยู่ตลอดเวลาทำให้เกร็งและผู้คนไม่กล้าทำอะไร อาจลดทอนความคิดสร้างสรรค์ของผู้คนไปบ้าง

-เรื่องส่วนตัวบางอย่างที่ไม่อยากให้ใครได้รู้ก็ปกปิดได้ยาก

แต่สำหรับคนที่อยู่ในประเทศจีน ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบก็คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ คงต้องตั้งมายด์เซ็ทของตัวเองว่า ถ้าไม่ได้ทำผิดอะไร ทำอะไรไปก็ไม่ต้องกลัว!!!

https://www.thenational.ae/arts-culture/comment/big-brother-china-s-data-driven-social-credit-system-sounds-like-a-sci-fi-dystopia-1.774372

https://www.cnbc.com/2019/09/06/ai-worries-about-the-dangers-of-facial-recognition-growing-in-china.html

 

Leave a Reply