วันนี้ได้รับเชิญจากบีเอสเอไปงาน Clean Up to the Countdown เป็นแคมเปญกระตุ้นองค์กรธุรกิจให้ใช้ซอฟต์แวร์ให้ถูกต้องตามกฎหมาย
บีเอสเอซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวแทนให้กับบริษัทผู้ให้บริการซอฟต์แวร์หลายแห่ง ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรฐกิจ จัดทำโครงการรณรงค์เพื่อลดการใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายในประเทศไทย
บริษัทที่แต่งตั้งให้บีเอสเอ ดูแลผลประโยชน์ให้ เช่น Amazon, Apple, Intel, Cisco, IBM, Intel, Microsoft, Oracle, SIEMENS ฯลฯ
มีทั้งการรณรงค์ให้หยุดใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ และจับดำเนินคดี
แม้อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ในประเทศไทยจะลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ในปัจจุบันยังพบว่า มากกว่าครึ่งขององค์กรธุรกิจในประเทศไทย ใช้ซอฟต์แวร์ที่ไม่มีไลเซนส์
ปี 2561 มีการตรวจจับองค์กรต่างๆในประเทศไทยและพบคอมพิวเตอร์ที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์รวม 3,915 เครื่อง ส่วนปี 2562 นับเฉพาะ 6 เดือนแรก ตรวจจับได้ 1,515 เครื่อง
กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรฐกิจบอกว่า ช่วงนี้กำลังทำงานเชิงรุกแบบเข้มขึ้นในการออกปราบปรามผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ ตั้งแต่วันนี้จนถึงช่วงปีใหม่ เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปอศ จะเดินหน้าตรวจค้นและดำเนินคดีกับองค์กรธุรกิจที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายการคุ้มครองลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ไทยอย่างต่อเนื่อง
การจับผู้ละเมิดลิขสิทธิ์เร่มต้นจากผู้ได้รับความเสียหายเรียกร้อง บีเอสเอจะเป็นผู้ให้เบาะแสกับตำรวจให้ไปจับใคร
บริษัทไหนโดนจับจะเสียชื่อเสียงและโดนลงโทษ ถูกเรียกร้องความเสียหายจากเจ้าของลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์
ซีอีโอหรือผู้บริหารสูงสุดของทุกองค์กรควรให้ความใส่ใจเรื่องนี้มากขึ้น นอกจากโดนข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์แล้ว ตำรวจอาจขยายผลเป็นความผิดอื่นๆอีกหลายอย่าง เช่น ฉ้อโกง ฟอกเงิน ฯลฯ
นอกจากใช้บริการของ บีเอสเอ และตำรวจแล้ว บริษัทซอฟต์แวร์ดังเกือบทุกแห่งมีเจ้าหน้าที่ Audit ที่ตรวจสอบการใช้บริการลูกค้าของตัวเอง
ลูกค้าบางรายซื้อไปใช้สำหรับ 1 บัญชี แต่แอบโกงระบบใช้ไป 5 บัญชี มีอะไรแบบนี้เป็นประจำ แต่ก็ไม่รอดการตรวจจับของบริษัทซอฟต์แวร์ต่างๆ เวลาถูกจับได้ เขาไม่ได้ฟ้องตำรวจแต่ปรับเงินลูกค้า บริษัทซอฟต์แวร์ที่ให้บริการอยู่ในประเทศไทยหลายแห่งมีรายได้ก้อนใหญ่จากการปรับลูกค้าในสัดส่วนที่สูงมาก
ช่วงถามตอบ ได้ถาม คุณดรุณ ซอว์เนย์ ผู้อำนวยการอาวุโส บีเอสเอ ว่า แล้วประชาชนคนธรรมดาทั่วไปที่มีการใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ จะมีการออกตรวจและเรียกตำรวจไปจับบ้างไหม? ซึ่งก็ได้คำตอบว่าตอนนี้ยังไม่มีนโยบายจะไปทำอะไรกับประชาชนทั่วไป
แต่ในความเป็นจริงใครที่ใช้ซอฟต์แวร์เถื่อน ทุกวันนี้มันลำบากมากขึ้นทุกที เพราะคอมพิวเตอร์เกือบทุกเครื่อง ทำงานเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ต บริษัทซอฟต์แวร์สามารถค้นหาตรวจสอบว่าใครละเมิดลิขสิทธิ์อยู่บ้าง แล้วยังมีรายการอัพเดทโปรแกรมอยู่เป็นระยะๆ หากใช้ของเถื่อนแล้วอัพเดทให้ใช้งานต่อได้ลำบากมาก
ถ้าพอมีงบก็มาช่วยสนับสนุนของแท้ดีกว่า เขาจะได้มีเงินไปพัฒนาอะไรดีๆให้พวกเราใช้กันนานๆ…