AIจีนหาคนคิดฆ่าตัวตายในโลกโซเชียล สแกนหาจากข้อความที่มีการโพสต์ไว้ ความถูกต้องแม่นยำการวิเคราะห์ 82% เจอน่าสงสัย แจ้งนักจิตวิทยาให้คุยด้วย

ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่า หนทางที่ดีที่สุดในการป้องกันไม่ให้คนฆ่าตัวตาย คือ การฟังพวกเขา บอกให้เขารู้ว่ามีคนใส่ใจ

ในปี 2016 มีคนจีนไม่น้อยกว่า 136,000 คน ตัดสินใจฆ่าตัวตาย

จากการสำรวจคนทั่วโลกของ World Health Organization หรือ WHO การฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุการตายมากที่สุดเป็นอันดับสองในกลุ่มคนที่มีอายุระหว่าง 15-29 ปี

WHO คาดว่าในปีหน้า จะมีคนทุกกลุ่มอายุทั่วโลก ฆ่าตัวตายประมาณ 1,500,000 คน

สื่อโซเชียลจีนชื่อดัง Weibo หรือ เวยป๋อ เปรียบได้กับ Twitter มี AI คอยสแกนข้อความที่มีการโพสต์อยู่ใน Weibo ทุกๆสี่ชั่วโมง ดึงคำพูดหลายคำที่มีการโพสต์ออกมา เช่น “ตาย” “ปลดปล่อยจากชีวิต” “จุดจบของโลก” ฯลฯ

AI ที่มีชื่อว่า Tree Hole ของ Weibo เอาสิ่งที่แต่ละคนโพสต์ไปวิเคราะห์เพิ่มเติม มันรู้ว่าเวลาคนพูดคำว่า… “ไม่ต้องการ” “มีชีวิต” ฯลฯ อาจบ่งชี้ให้เห็นว่า… เป็นคนที่มีแนวโน้มคิดจะฆ่าตัวตาย

Tree Hole พัฒนามาถึงรุ่นที่ 6 แล้ว ผลการตรวจสอบความถูกต้องแม่นยำในการวิเคราะห์มีมากถึง 82% ระบบมีการแบ่งระดับความเสี่ยงออกเป็น 10 ระดับ เมื่อมีผลออกมาสูงตั้งแต่ระดับ 5 ขึ้นไป จะมีรายงานส่งไปให้ทีมที่ปรึกษานักจิตวิทยาที่ทำงานแบบอาสาสมัครได้รับรู้ และติดต่อเข้าไปคุยกับคนที่มีปัญหา

นักจิตวิทยาอาจเริ่มต้นด้วยการส่งข้อความไปหาคนที่มีความเสี่ยงคิดจะฆ่าตัวตายว่า…

“คุณโอเคไม๊?”

“อยากจะลองคุยกันไม๊?”

นับตั้งแต่เดือน กรกฎาคม 2018 AI ในโครงการนี้สามมารถป้องกันคนจีนที่คิดจะฆ่าตัวตายไปแล้วมากกว่า 1,000 คน

โครงการนี้ต้องใช้อาสาสมัครจำนวนมาก วันนี้มีนักวิชาการที่เป็นนักจิตวิทยาจีนอาสาสมัครช่วยทำงานเกือบ 600 คน คอยให้คำปรึกษาและติดตามผลผู้ที่มีปัญหา

ข้อจำกัดเรื่องจำนวนคนทำงาน ทำให้การช่วยเหลือคนที่มีปัญหา มีจำกัด

วันนี้ทางทีมงานและนักจิตวิทยา กำลังพัฒนา “bot” ที่มีการโปรแกรมให้มีการสื่อสารหรือมีปฏิกิริยาโต้ตอบที่เหมาะสมกับผู้ที่มีปัญหาแต่ละคน จะได้ช่วยคนได้มากขึ้น

แต่การประเมินผู้มีปัญหาด้วยการสนทนาแบบออนไลน์ ไม่ได้ผลดีเท่าการพูดคุยกันโดยตรงแบบเห็นหน้ากันตัวต่อตัว น้ำเสียงหรือคำพูดให้ข้อมูลเพียงบางส่วนเท่านั้น ถ้าได้เห็นการเคลื่อนไหวและการแสดงสีหน้าด้วย จะทำให้นักจิตวิทยาทำงานได้ดียิ่งขึ้น

วันนี้เลยมีแผนจะพัฒนาระบบให้ดียิ่งขึ้น นักวิทยาศาสตร์กำลังพัฒนา AI ให้ตรวจจับความหดหู่ของแต่ละคนด้วยการสแกนใบหน้าของผู้ที่มีปัญหา AI สามารถวิเคราะห์เพิ่มเติมจาก การเคลื่อนไหวของดวงตา การหายใจ น้ำเสียง การแสดงสีหน้า ฯลฯ

การพัฒนา AI เพื่อตรวจจับหาคนที่คิดจะฆ่าตัวตายยังมีงานต้องทำอีกมาก ข้อมูลที่จะป้อนให้ AI เรียนรู้ ยังมีไม่มากพอ ตามทฤษฎีแล้วต้องป้อนข้อมูลเข้าไปมากกว่า 500,000 ตัวอย่าง ซึ่งวันนี้ยังไม่มีข้อมูลมากพอที่จะสอน AI ได้

ในระยะยาวแล้ว AI คงจะพัฒนาดีขึ้นเรื่อยๆ

สรุปแล้วนักจิตวิทยาในวันนี้ ยังไม่ตกงาน!!!

https://www.scmp.com/tech/apps-social/article/3037917/ai-bot-finds-suicidal-messages-chinas-weibo-helping-volunteer

 

Leave a Reply