ภาพรวมเศรษฐกิจจากทุกสำนักลงความเห็นตรงกันว่า…วันนี้ประเทศไทยมีปัญหา และปีหน้า 2020 ปัญหายังมีอยู่
การขยายตัวของ GDP ปี 2019 เปรียบเทียบกับปี 2018 น่าจะต่ำกว่าเป้า เป้าหมายการเติบโตที่เคยตั้งไว้สูงได้ปรับลดลงมาอย่างต่อเนื่อง จากที่เคยวางไว้สูงกว่า 3% คงลดต่ำกว่า 3% แน่ๆ และคงมีตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 2.6%
ถ้าเปรียบเทียบประเทศไทยเหมือนเป็นบริษัทมหาชนที่มีหุ้นซื้อขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ การทำงานที่ไม่เป็นไปตามเป้า หมายถึงผลงานที่ต่ำกว่ากว่าความคาดหวัง หุ้นคงตกแน่ และผู้บริหารบริษัทต้องมีคำอธิบาย หรืออาจมีปัญหาไม่ได้รับความไว้วางใจให้บริหารบริษัทอีกต่อไป
รายงานล่าสุดที่เป็นตัวเลขของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ รายงานว่า ไตรมาส 3/2019 มีผู้ทำงานลดลง 2.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หายไปประมาณ 7 แสนคน
การจ้างงานนอกภาคเกษตรลดลง 2.3% สาขาที่มีการจ้างงานลดลงได้แก่ สาขาการผลิต 5.2% สาขาการขายส่ง/ขายปลีก 4.1% และสาขาการก่อสร้าง 2.2%
การจ้างงานนอกภาคเกษตรลดลง 1.8% หายไปประมาณ 2 แสนคน
สรุปแล้วไตรมาสที่ 3/2019 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว มีการว่างงานเพิ่มขึ้นเกือบ 1 ล้านคน และพบว่า พวกที่เรียนจบปริญญาตรีตกงานมากที่สุด
ปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นในเศรษฐกิจไทยในวันนี้ คือ สภาพการเป็นหนี้ของคนไทย
ธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งรวบรวมข้อมูลย้อนหลัง 10 ปี มีข้อสรุปว่า….
“คนไทยเป็นหนี้ เร็วขึ้น มากขึ้น นานขึ้น”
-หนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยเพิ่มขึ้นกว่า 25% ภายใน 10 ปี
-หนี้ครัวเรือนไทยสูงอันดับ 2 ของเอเชีย เป็นรองแค่ เกาหลีใต้
-คนไทยเป็นหนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย 50% ของคนไทยอายุ 30 ปีขึ้นไป มีหนี้
-คนไทย 21 ล้านคนที่มีหนี้ กว่า 3 ล้านคน หรือ 15.9% เป็นหนี้เสีย
-คนไทยเป็นหนี้นานขึ้น เกษียณแล้วใช้หนี้ยังไม่หมด อายุ 60-69 มีหนี้เฉลี่ย 453,438 บาทต่อราย อายุ 70-79 ปี มีหนี้เฉลี่ย 287,932 บาทต่อราย
-คนในวัยทำงานช่วงอายุ 25 – 36 ปี กว่าครึ่งหนึ่งมีหนี้จากสินเชื่ออุปโภคบริโภคและ/หรือหนี้บัตรเครดิต เป็นช่วงอายุที่มีสัดส่วนคนเป็นหนี้มากที่สุด และเป็นกลุ่มคนที่เป็นหนี้เสียสูงสุด สรุปง่ายๆได้ว่า 1 ใน 5 ของคนกลุ่มนี้เป็นหนี้เสีย
มีข้อสรุปจากธนาคารแห่งประเทศไทย รายงานปัญหาหนี้ของคนไทยว่า ปัญหาใหญ่มาจากการขาดวินัยทางการเงินของครัวเรือนไทย
คุณสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือ Credit Bureau ซึ่งอยู่ใกล้ชิดกับตัวเลขคนเป็นหนี้เสีย ก็มีความเป็นห่วงเรื่องการขาดวินัยทางการเงินของคนไทยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนอายุยังน้อย
ซีอีโอเครดิตบรูโรไทยคุยให้ฟังว่า คนหนุ่มสาวไทยจำนวนมากในยุคนี้จัดอยู่ในกลุ่ม “เงินเดือนออฟฟิซ แต่ต้องใช้ชีวิตแบบกรรมกร”
คนที่มีรายได้ 30,000 บาท ต่อเดือนจำนวนมาก มีสัดส่วนการเป็นหนี้สารพัดอย่างประมาณ 70% หมายความว่าจะมีเงินเหลือไว้ใช้จ่ายส่วนตัวประมาณ 9,000 บาท ต่อเดือน หรือวันละประมาณ 300 บาท
หน่วยงานที่ให้ข้อมูลเศรษฐกิจไทย บอกว่า คนไทยจำนวนมากขาดวินัยทางด้านการเงินเลยทำให้มีปัญหา
ที่จริงยังวิเคราะห์สาเหตุของปัญหาได้อีกหลายอย่าง เช่น
คนหนุ่มสาววัยทำงานอายุ 25 – 36 ปี เป็นหนี้กันมาก เพราะเป็นวัย สร้างตัว สร้างครอบครัว ยังมีกำลังความสามารถในการหาเงินไม่สูงมาก แต่เป็นช่วงชีวิตที่จำเป็นต้องใช้เงินมาก
ปัญหาเศรษฐกิจไม่ดี และการแก้ปัญหาของภาครัฐไม่มีประสิทธิภาพ มีส่วนสำคัญทำให้ประชาชนในประเทศไทยมีปัญหาเรื่องหนี้สิน
หลายๆครั้ง ภาครัฐ ให้ข้อมูลที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง
ชะตาชีวิตพวกเราคนไทย จะฝากไว้กับคนอื่นคงไม่มีอนาคต ต้องดิ้นรนหาทางรอดเอาเอง
วันนี้เริ่มมีการเปรียบเทียบแล้วว่ามันเหมือนยุคต้มยำกุ้งในปี 2540 หรือเปล่า ในแง่ของตัวเงินที่เป็นปัญหาหนี้เสียซี่งทำให้เศรษฐกิจแย่ ปี 2540 เลวร้ายกว่าปัจจุบันมาก
ปี 2540 ปัญหาเกิดจากคนที่อยู่ในระดับบนของสังคมไทย แต่ในยุคนี้มันเกิดแบบซึมลึกในสังคมส่วนใหญ่ที่เป็นคนระดับกลางและล่าง ถ้านับเป็นจำนวนคนที่กำลังมีปัญหาเศรษฐกิจในประเทศไทย วันนี้มีจำนวนคนที่มีปัญหามากกว่ายุคต้มยำกุ้ง
เงิน 4-5 แสนบาท สำหรับคนรวยมากๆ อาจไม่มีความหมายอะไร แต่เงินจำนวนนี้ที่เป็นหนี้สำหรับคนจน มันอาจหมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต
ทางรอดในยุคนี้ก็คือ ต้องลดคุณภาพชีวิตของพวกเราไปก่อน…. รอจนกว่าจะได้คนที่มีคุณภาพมาบริหารประเทศไทย….