เกมเปลี่ยนครั้งสำคัญธุรกิจโดรนโลก มาตรฐานเดิมเปลี่ยนแบตทุกครึ่ง ช.ม. จีนสร้างแบตโดรนบินได้นาน 12 ช.ม. ใช้เมทิลแอลกอฮอล์แทนลิเธียมไอออน

โดรนทั่วไปที่มีอยู่ในปัจจุบันซึ่งใช้แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน สามารถบินอยู่ในอากาศได้นานสูงสุดประมาณ 30 นาที หลังจากนั้นต้องเปลี่ยนแบตใหม่

โดรนบางตัวทำเป็นระบบไฮบริดที่ใช้ไฟฟ้าและน้ำมันควบคู่กัน ตามข่าวล่าสุดที่เคยมีการทดสอบกัน พบว่ามีระยะเวลาบินได้นานสูงสุดประมาณ 4 ชั่วโมง

แต่วันนี้มีข่าวใหญ่ในวงการ Unmanned Aerial Vehicle (UAE) หรือ อากาศยานไร้คนขับ นักวิทยาศาสตร์จีนสร้างเกมเปลี่ยนครั้งสำคัญ โดยใช้แบตเตอรี่เมทานอล ทำให้โดรนสามารถบินอยู่ในอากาศได้นาน 12 ชั่วโมง

ทีมนักวิทยาศาสตร์จีนผู้สร้าง FY-36 เอาโดรนน้ำหนัก 15 กิโลกรัม 6 ตัว ออกทดลองบิน พบว่าสามารถบินได้นานถึง 12 ชั่วโมง

FY-36 เป็นโดรนหรืออากาศยานไร้คนขับที่สามารถทำความเร็วสูงสุด 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แบกน้ำหนักขนอุปกรณ์อื่นๆเพิ่มเติมได้ 3 กิโลกรัม ตั้งใจออกแบบมาเพื่อใช้ในภารกิจหลายอย่าง เช่น การตรวจสอบสายไฟ การค้นหาและการช่วยเหลือ การทำแผนที่ทางธรณีวิทยา งานข่าวกรองทางการทหาร ฯลฯ

อากาศยานไร้คนขับแตกต่างกับรถ เพราะมีปัญหาเรื่องน้ำหนักและการต่อสู้กับแรงดึงดูดของโลก

แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนไม่เหมาะกับโดรนหรือเครื่องบิน เพราะมีน้ำหนักมาก หากต้องการให้บินอยู่ในอากาศได้นานขึ้นก็ต้องเพิ่มจำนวนแบตเตอรี่ ซึ่งกลายเป็นอุปสรรคเรื่องน้ำหนัก

คนในวงการอุตสาหกรรมน้ำมันที่มองเห็นการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมรถยนต์ที่หันไปใช้รถไฟฟ้ากันหมด เคยออกมาให้ความเห็นอยู่บ่อยๆว่า เครื่องบินยังต้องใช้น้ำมันไปอีกนาน โอกาสที่จะสูญเสียตลาดนี้เป็นเรื่องยากที่ดูจะเป็นไปไม่ได้เลย

แต่การค้นพบครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นครั้งสำคัญในวงการบิน

ปัญหาใหญ่ที่ไม่สามารถทำให้โดรนบินอยู่ได้นาน แก้ได้ด้วยการเปลี่ยนไปใช้แบตเตอรี่เมทานอล ซึ่งตามทฤษฎีแล้ว สามารถกักเก็บพลังงานได้มากกว่าแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน 70 เท่า

นักวิทยาศาสตร์รู้มานานแล้วว่า เมทานอล หรือ เมทิลแอลกอฮอล เป็นเชื้อเพลิงสำคัญชนิดหนึ่ง วันนี้มีการนำสารแปรรูปนี้ไปผสมกับ LPG เพื่อใช้ในครัวเรือน หรือผสมกับน้ำมันดีเซล ทำเป็นไบโอดีเซล

ปัญหาที่ท้าทายสำหรับการนำเมทานอลมาใส่ในแบตเตอรี่ คือ การแปลงแอลกอฮอล์มาเป็นพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะการไหลของเมทานอลจะขึ้นอยู่กับอุณภูมิในอากาศ ในช่วงที่ต้องการพลังงานมากๆอย่างฉับพลันอาจมีปัญหา

ปัญหาอีกเรื่องที่สำคัญที่สุด คือ การทำให้ต้นทุนในการสร้างลดต่ำลงมาในระดับที่สามารถผลิตขายในเชิงพาณิชย์ได้

ทีมผู้สร้าง FY-36 คาดการณ์ว่าโดรนรุ่นใหม่ที่บินได้นาน 12 ชั่วโมง จะสามารถทำออกขายได้ในปี 2020 แต่จะรับสั่งผลิตแบบจำนวนมากๆ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการผลิตมากขึ้น และคงมีการพัฒนาให้ขนสัมภาระได้มากกว่า 3 กิโลกรัม จะได้เอาโดรนนี้ไปใช้ในภารกิจอื่นๆเพิ่มขึ้น เช่น การฉีดปุ๋ยหรือยาฆ่าแมลง การขนส่งพัสดุ ฯลฯ

นักวิทยาศาสตร์จีนไม่ใช่รายเดียวที่กำลังพัฒนาระบบพลังงานสำหรับอากาศยาน ในประเทศเยอรมัน Lange Research Aircraft กำลังอยู่ระหว่างการสร้างเครื่องบินที่ใช้คนหรือคอมพิวเตอร์เป็นผู้ควบคุม ตามแผนที่วางไว้แจ้งว่า เป็นเครื่องบินที่ขับเคลื่อนด้วยเมทานอลน้ำหนักรวม 1.5 ตัน คาดว่าจะขนสัมภาระได้มากกว่า 200 กิโลกรัม และบินได้นานกว่า 40 ชั่วโมง แต่อาจเป็นระบบพลังงานแบบไฮบริด

วันนี้ประเทศจีนครองส่วนแบ่งตลาดโดรนของโลกมากกว่า 70% และยังมีการวิจัยพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โอกาสที่จะมีใครไล่ตามจีนได้คงยาก ตลาดในมือที่ใหญ่กว่าใครๆทำให้ความเป็นไปได้ในการผลิตในเชิงพาณิชย์มีโอกาสมากกว่า…

https://www.scmp.com/news/china/science/article/3042818/chinese-scientists-create-game-changer-methanol-battery-keeps

 

Leave a Reply