ฟุกุชิมะเมืองร้างกัมมันตภาพรังสีญี่ปุ่น กำลังกลายเป็นศูนย์กลางพลังงานสะอาด

เมื่อวันที่ 26 เมษายน 1986 เกิดภัยพิบัติเชอร์โนบีลในยูเครน ซึ่งในยุคนั้นเป็นสหภาพโซเวียต ถือว่าเป็นอุบัติเหตุที่เกิดกับไรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่ร้ายแรงที่สุด จัดเป็นความรุนแรงระดับ 7 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดตามมาตราระหว่างประเทศว่าด้วยเหตุการณ์ทางนิวเคลียร์

อุบัติเหตุนิวเคลียร์ระดับ 7 อีกครั้งของโลก เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น ช่วงที่เกิดแผ่นดินไหวและสึนามิ ทำให้เกิดภัยพิบัตินิวเคลียร์ที่ฟุกุชิมะไดอิชิในปี 2011

หลังเหตุการณ์ที่ฟุกุชิมะ ญี่ปุ่นสั่งปิดเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่มีอยู่ทั้งหมด 54 แห่ง และมีมาตรการใหม่ที่เข้มงวดมากๆ ปัจจุบันยอมให้เปิดใช้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เหล่านี้เพียง 9 แห่ง แต่มีเงื่อนไขและระเบียบข้อบังคับที่ต้องปฏิบัติเพิ่มขึ้นอีกมาก

นับตั้งแต่เกิดอุบัติเหตุนิวเคลียร์ที่ฟุกุชิมะ คนญี่ปุ่นเริ่มกลัวและประชาชนต่อต้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อย่างมาก

ฟุกุชิมะ มีแผนจะปรับพื้นที่เป็นแหล่งพลังงานทดแทน 100% ภายในปี 2040 โดยในปัจจุบันมีพลังงานทดแทนอยู่ 40% เมืองนี้จะได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางของพลังงานสะอาดที่คอยจ่ายพลังงานให้กับเมืองหลวงในโตเกียว

อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นที่ฟุกุชิมะในปี 2011 ทำให้เกิดการรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสี และคนมากกว่า 150,000 คนต้องอพยพจากพื้นที่ทันที ปัจจุบันยังไม่มีใครย้ายกลับเข้าไปอยู่

พื้นที่ว่างเปล่ามากมายในฟุกุชิมะในวันนี้ กำลังจะถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นแหล่งพลังงานสะอาดของญี่ปุ่น รัฐบาลญี่ปุ่นมีโครงการ 2,750 ล้านดอลลาร์ ในการสร้างโซลาร์ฟาร์ม 11 แห่ง และฟาร์มกังหันลม 10 แห่ง น่าจะผลิตไฟฟ้าได้ 600 เมกะวัตต์ โดยมีเป้าหมายสร้างเสร็จภายในปี 2024

การปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของญี่ปุ่นจำนวนมาก ทำให้ต้องหาพลังงานอย่างอื่นมาใช้แทน และเป็นผลทำให้โรงไฟฟ้าต้องใช้พลังงานจากถ่านหินและก๊าซจำนวนมาก

ในวันนี้ญี่ปุ่นเป็นผู้นำเข้าถ่านหินเข้ามาใช้ในประเทศเป็นอันดับ 3 ของโลก โดยเป็นรอง อินเดีย และจีน

รัฐบาลญี่ปุ่นมีแผนจะนำเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่เลิกใช้และปล่อยทิ้งร้างในญี่ปุ่นจำนวนมากกลับมาใช้ใหม่ โดยตั้งเป้าว่าจะนำเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์อีก 30 เตากลับมาเริ่มใช้ใหม่ให้ได้ภายในปี 2030 แต่ก็ดูเหมือนจะยากเต็มที เพราะประชาชนต่อต้านกันรุนแรงมาก

ไฟฟ้านิวเคลียร์ปล่อยมลพิษน้อยกว่าถ่านหิน แต่ไฟฟ้านิวเคลียร์เสี่ยงเรื่องอุบัติเหตุการรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสี ไม่มีใครคาดการณ์ได้ว่าจะมีแผ่นดินไหวครั้งใหญ่อีกเมื่อไหร่

จากตัวเลขสำรวจในปี 2018 ประเทศญี่ปุ่นมีสัดส่วนของการใช้พลังงานทดแทนของประเทศอยู่ 17.4% และมีเป้าหมายจะเพิ่มเป็น 22% – 24% ภายในปี 2030

ญี่ปุ่นเป็นประเทศอุตสาหกรรม และเป็นหนึ่งในประเทศที่สร้างปัญหามลพิษให้กับสิ่งแวดล้อมในอันดับต้นๆของโลก โดยมีสัดส่วนเป็นผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ 3.5% ของโลก แต่ญี่ปุ่นก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ลงนามในสัญญาข้อตกลงที่กรุงปารีส สัญญาว่าจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ และไม่ทำให้โลกร้อนขึ้น

การปรับเปลี่ยนดินแดนทิ้งร้างในฟุกุชิมะที่มีปัญหามลพิษมาเป็นศูนย์กลางพลังงานสะอาด ถือว่าเป็นโอกาสดีที่จะได้ทำอะไรตอบแทนกับสิ่งแวดล้อมบ้าง…

https://www.theguardian.com/environment/2020/jan/05/fukushima-unveils-plans-to-become-renewable-energy-hub-japan

 

Leave a Reply