รถไร้คนขับสร้างปัญหาอวัยวะขาดแคลน ไม่มีใครตายจากอุบัติเหตุ ไม่มีอวัยวะสดๆ อนาคต เครื่องพิมพ์ 3D ปลูกถ่ายจากหมู

Dr. Martine Rothblatt อดีตผู้ก่อตั้ง Sirius Satellite Radio ซึ่งทำธุรกิจด้านการบินและอวกาศ ในช่วงทศวรรษ 1990 เธอได้ผันตัวเองมาทำอาชีพใหม่ สร้างอุตสาหกรรมอวัยวะทดแทน โดยแรงบันดาลใจเกิดขึ้นหลังจากลูกสาวของเธอเป็นโรคปอดชนิดหายาก

ประเทศสหรัฐอเมริกา นับถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2020 มีผู้ป่วยที่เข้าคิวรอการบริจาคอวัยวะรวม 112,000 คน คนส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้ตายไปโดยเฉลี่ย 20 คน ต่อวัน เพราะไม่มีอวัยวะมาบริจาคให้

ประเทศต่างๆทั่วโลก ก็อยู่ในสภาพขาดแคลนในลักษณะเดียวกัน

ต่อไปในอนาคต เมื่อมีรถออโตโนมัสหรือรถไร้คนขับใช้กันอย่างกว้างขวาง จะทำให้เกิดอุบัติเหตุน้อยลง และอาจไม่มีใครตายจากอุบัติเหตุร้ายแรง ซึ่งหมายถึงคนที่กำลังรอรับบริจาคอวัยวะจะมีปัญหาขาดแคลนมากขึ้น

การขาดแคลนอวัยวะทำให้อุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพที่เกี่ยวกับ การเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ และการฟื้นฟูอวัยวะ กลายเป็นโอกาสทางธุรกิจที่ยิ่งใหญ่

สำหรับ Dr. Martine Rothblatt วันนี้เป็น CEO ของ United Therapeutics กำลังวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆสำหรับอุตสาหกรรมการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ โดยมีจุดเริ่มต้นในการศึกษาเกี่ยวกับโรคปอด ทำการเปลี่ยนถ่ายปอด เทคโนโลยีที่จะนำมาใช้หลักๆ มี 3 สาขา คือ

  1. 3D Printing Lungs
  2. Humanizing Pig Lungs
  3. Lung Ex Vivo Perfusion Systems

การพิมพ์ปอดแบบสามมิติ เริ่มจากการสร้างคอลลาเจนชีวภาพ ใช้ระบบการพิมพ์ชีวภาพที่เรียกหว่า Stereolithography มีการยิงเลเซอร์แสงยูวีกระพริบผ่านคอลลาเจนตื้นๆที่เจือด้วยโมโลกุล ทำให้อวัยวะเทียมแข็งตัวขึ้น

อีกวิธีที่นักวิทยาศาสตร์กำลังทำการพัฒนา คือ การผลิตอวัยวะเทียมจากสัตว์ ซึ่งในวันนี้เริ่มมีการทำกับหมู เรียกว่า Xenotransplantation แนวคิดนี้เป็นการเอาอวัยวะของสัตว์มาใส่ในคนที่ต้องการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ ในแลปของ United Therapeutics ปัจจุบันสามารถเลี้ยงหมูที่มีสุขภาพดีและสามารถผลิตปอดได้ปีละ 1,000 ชุด มีการคาดหมายว่า ภายใน 3-4 ปีข้างหน้า จะสามารถเอาอวัยวะจากหมูมาเปลี่ยนถ่ายในมนุษย์ได้

สำหรับวิธีการที่สาม คือ Lung Ex Vivo Perfusion Systems เป็นการพัฒนาอวัยวะที่มีการบริจาคเข้ามา เอามาฟื้นฟูให้ใช้งานได้ เพราะอวัยวะของคนที่มีการบริจาคเข้ามา มีเพียง 30% ที่รับมาแล้วใช้ได้ทันที ส่วนใหญ่แล้วใช้ไม่ได้ หากมีแนวทางการฟื้นฟูที่ดีขึ้น จะทำให้อวัยวะที่ได้รับมามีอัตราการใช้งานได้มากขึ้น

Dr. Martine Rothblatt เริ่มทำโครงการนี้เพราะมี Pain Point ที่เกิดขึ้นในครอบครัวของเธอเอง และหากประสบความสำเร็จด้วยดี จะกลายเป็นผลประโยชน์ที่ส่งต่อให้กับมนุษยชาติทั้งโลก

เมื่อสองร้อยปีก่อนอายุขัยโดยเฉลี่ยของมนุษย์ทั่วโลกมีต่ำกว่า 40 ปี ในปัจจุบันอยู่ที่ 72.6 ปี และมีการคาดหมายว่า คนที่เกิดในวันนี้ อาจมีอายุขัยโดยเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 120 ปี

หากโครงการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะภายในของมนุษย์ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย การมีอายุยืนยาวมากกว่า 100 ปี จะไม่ใช่เรื่องที่เกินเลยความจริง!!!

.

Leave a Reply