หุ่นยนต์นักวิทยาศาสตร์ ผู้ช่วยนักวิจัย ทำงานเสี่ยง ทำงานไม่หยุด ไม่รู้จักเบื่อ อาจทำให้การค้นพบเร็วขึ้น 1,000 เท่า AI เป็นสมองให้หุ่นยนต์ คิดเอง ทำเอง

หุ่นยนต์กำลังรับบทเป็นผู้ช่วยนักวิจัยทำการศึกษาทดลองทางวิทยาศาสตร์

ในช่วงล็อคดาวน์ที่นักวิจัยต้องทำงานที่บ้านมากขึ้น มีการนำหุ่นยนต์มาช่วยงานในห้องแลบมากขึ้น และพิสูจน์ให้เห็นชัดเจนว่า จะทำให้การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ต่างๆเร็วขึ้นมาก เร็วกว่าวิธีเก่าที่เคยใช้คนทำงานทุกอย่าง และอาจเร็วมากขึ้นถึง 1,000 เท่า

นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยลิเวอร์พลูซึ่งเริ่มเอาหุ่นยนต์มาช่วยงานวิจัย เปิดเผยว่า หุ่นยนต์สามารถทำงานแบบออโตโนมัส แม้แต่ตัวนักวิจัยก็สามารถทำงานทดลองจากที่บ้านได้

ความก้าวหน้าของ AI, Robotics, Data Analysis, Modelling และ Simulation ช่วยทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถทำการวิจัยแบบเสมือนจริงได้ง่ายมาก ทำให้การค้นพบที่ก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์รวดเร็วขึ้น ลดเวลาจากงานในห้องแลปที่เคยทำหลายสัปดาห์ หรือหลายเดือน สามารถทำเสร็จได้เพียงไม่กี่ชั่วโมง

AI สามารถชี้ให้เห็นรูปแบบต่างๆที่เป็นไปได้ในการทดลอง ซึ่งโดยปกติแล้วหากใช้คนวิเคราะห์ อาจไม่มีทางมองเห็นเลย

AI ที่ใส่เข้าไปให้หุ่นยนต์ ช่วยทำให้มันมีสมอง รู้จักคิดเองทำเอง มนุษย์ไม่จำเป็นต้องกำกับหรือสั่งให้มันทำงานแต่ละขั้นตอน ไม่ต้องคิดแทนหุ่นยนต์ไปทุกเรื่อง

มีงานวิจัยหลายเรื่องที่ นักวิจัยหุ่นยนต์ กำลังช่วยนักวิทยาศาสตร์ทำงาน

มันกำลังช่วยงานวิจัย Solar Cells ที่ช่วยสร้างพลังงานสะอาดที่ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนสร้างปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อม

มันกำลังช่วยนักเคมีและหมอในการหายารักษาและวัคซีนเพื่อต่อสู้กับโควิด-19 และอาจย่นระยะเวลาในการค้นพบให้เร็วขึ้นหลายเดือน

ในช่วงที่มีปัญหาการระบาดของไวรัส เหล่านักวิทยาศาสตร์ตามห้องทดลองต่างๆทั่วโลก ก็มีปัญหาเรื่องการรักษาระยะห่างทางสังคม อาจมีเวลาทำงานจำกัด ไม่สามารถทำงานในห้องทดลองได้นานๆเหมือนช่วงเวลาปกติ ทำให้เกิดความจำเป็นต้องมี Robo-Scientist มาช่วยทำงานมากขึ้น

หุ่นยนต์ทำงานไม่รู้จักเบื่อ ไม่เคยเหนื่อย ไม่มีวันหยุด ทำงานชนรอบต่อเนื่องได้ 24 ชั่วโมง และทำงานได้เอง

ในการทดลองทางวิทยาศาสตร์ มีงานน่าเบื่อหลายอย่างที่ต้องทำซ้ำๆต่อเนื่องนานๆ ตัวอย่างแต่ละตัวต้องทดลองทีละครั้ง รวมแล้วอาจหลายพันตัวอย่าง เมื่อมีการโปรแกรมหุ่นยนต์ให้ทำงานซ้ำๆเหล่านั้นได้ นักวิจัยก็จะมีเวลาไปทำอย่างอื่นมากขึ้น

งานบางอย่างเป็นงานเสี่ยง สารเคมีบางชนิดมีพิษที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ แต่ไม่อันตรายต่อหุ่นยนต์ งานเสี่ยงๆเช่นงานวิจัยทางอวกาศก็สามารถใช้หุ่นยนต์ไปทำงานแทน

อาจมีบางคนเริ่มกังวลว่า อีกหน่อยมันจะเข้ามาแย่งงานทุกอย่างของนักวิจัย แต่นักวิทยาศาสตร์ไม่ได้คิดอย่างนั้น เพราะงานทางด้านวิทยาศาสตร์ยังจำเป็นต้องใช้คนอยู่เสมอ

หุ่นยนต์จะมาช่วยทำให้นักวิจัยมีเวลามากขึ้น จะได้โฟกัสเรื่องนวัตกรรม และการหาโซลูชั่นใหม่ๆที่เป็นประโยชน์กับมนุษยชาติ

https://www.bbc.com/news/science-environment-53029854

https://www.rsc.org/new-perspectives/discovery/digital-futures

https://www.bbc.com/news/science-environment-53029854

Leave a Reply