จีนแบนต่างชาติส่งเสริมธุรกิจภายใน นโยบายได้ผล ทำให้จีนแข็งแกร่งขึ้น ต่างชาติ เริ่มกีดกันจีนเหมือนที่จีนทำ

เทคดังๆของโลก เช่น Google, Facebook, YouTube, Instagram, Line, WhatsApp, Netflix, Amazon ไม่มีในประเทศจีน

ทางการจีนบอกว่าไม่ได้ห้ามใคร แต่เป็นเพราะบริษัทเหล่านี้ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขที่เป็นกฎระเบียบหรือกฎหมายของจีน

บางธุรกิจก็ยากที่จะอยู่รอดในจีน เพราะไม่สามารถแข่งขันด้วย . Amazon เคยมีสำนักงานอยู่ในประเทศจีน แต่ปิดตัวลงในปี 2019 เพราะแข่งขันกับยักษ์จีนอย่าง Alibaba หรือ JD.com ไม่ได้

ทางการจีนต้องการเซนเซอร์แอปสื่อโซเชียลทุกแอปที่ใช้ในประเทศจีน มิฉะนั้นจะถูกบล็อก มันกลายเป็นข้อจำกัดหลักที่ทำให้แอปดังของโลกไม่สามารถเข้าไปในจีน และยังมีอุปสรรคอีกหลายอย่างที่ทำให้ต่างชาติเข้าไปแข่งขันในจีนได้ยาก

อุตสาหกรรมต่างชาติหลายประเภท ใช้ประเทศจีนเป็นโรงงานผลิตสินค้า ทำให้เทคโนโลยีถูกถ่ายทอดสู่บริษัทจีน และในที่สุดก็สามารถสร้างสินค้าที่เป็นแบรนด์จีนเอง

Huawei เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด วันนี้กลายเป็นสมาร์ทโฟนที่มียอดขายอันดับสองของโลก เป็นรองแค่ Samsung ถ้าไม่โดนอเมริกาและพันธมิตรรุมสกรัม วันนี้ หัวเว่ย อาจกลายเป็นเบอร์หนึ่งของโลกแล้วก็ได้

การกีดกันต่างชาติในประเทศจีน เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้จีนสามารถพัฒนาตัวเอง ไม่โดนตะวันตกตีตายไปก่อนที่จะโต อาศัยตลาดภายในประเทศที่ใหญ่มากมาช่วยสร้างตัว ทำให้มีเวลาพัฒนา และกลายเป็นความก้าวหน้าจนสามารถออกไปแข่งขันนอกประเทศจีน

แต่วันนี้จีนกำลังโดนหลายๆชาติกีดกันจีน เหมือนอย่างที่จีนเคยกีดกันประเทศอื่น

เกลือ กำลังจิ้ม เกลือ

ช่วงนี้ Huawei, TickTok ของจีนโดนหนักที่สุด ประเทศในโลกตะวันตกอ้างว่าไม่ปลอดภัย กล่าวหาว่า รัฐบาลจีนจะเข้ามาล้วงความลับ เวลาแบนแล้วออกข่าวเพื่อสนับสนุนฟังดูมีเหตุผลมาก แต่ถ้าไปดูวาระซ่อนเร้น มันกลายเป็นการตอบโต้เพื่อสกัดโต มีเรื่องของผลประโยชน์ทางการค้าอยู่เบื้องหลัง

จีนกำลังมีข้อพิพาทกับอินเดียที่พรมแดน มีทหารอินเดียตายถึง 20 นาย ทำให้รัฐบาลอินเดียสั่งแบนแอปจีน 59 แอปในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2020 และ TikTok ที่นิยมในอินเดียอย่างมากก็โดนแบนด้วย

TikTok มีผู้ใช้ในอินเดีย 200 ล้านคน พอแอปนี้ถูกแบน คนอินเดียก็หันไปใช้แอป Roposo ของอินเดีย สามารถแชร์คลิปได้เหมือน TikTok . Roposo ที่เคยมีผู้ใช้ 55 ล้านคน พออินเดียแบน TikTok ทำให้ Roposo มีผู้ใช้เพิ่มเป็น 100 ล้านคน โตขึ้นหนึ่งเท่าตัวเพราะแบนแอปจีน

นโยบายกีดกันทางการค้าต่างชาติ ส่งผลดีต่อธุรกิจภายในประเทศเป็นความจริง แต่มันมีผลกระทบต่อผู้บริโภคในประเทศ . แทนที่คนในประเทศจะได้ใช้ “ของถูก ของดี” แต่จำเป็นต้องใช้ “ของห่วย ของแพง” เพื่อช่วยให้พ่อค้าในประเทศร่ำรวยขึ้น เงินตราไม่รั่วไหลออกนอกประเทศ

ภาครัฐต้องหาทางสร้างความสมดุลระหว่างพ่อค้าและผู้บริโภค และคิดถึงผลประโยชน์ส่วนรวมอย่างแท้จริง

เหมือนอย่างกรณีของประเทศไทย เรามีกำแพงภาษีสูงมากสำหรับรถนำเข้า สาเหตุหลักเพื่อทำให้โรงงานรถยนต์ในประเทศผลิตรถออกมาแล้วขายได้มากๆ ไม่โดนของนำเข้าตีตลาด

ถ้า Tesla Model 3 ไม่โดนกีดกัน คนในประเทศไทยอาจซื้อได้ในราคาล้านกว่าบาท แต่ความจริงที่เป็นอยู่ในวันนี้ คือ ใครอยากได้ Tesla Model 3 มาใช้ในประเทศไทย ต้องซื้อในราคาประมาณ 4 ล้านบาท!

รัฐบาลไทยต้องการช่วยเหลืออุตสาหกรรมภายในประเทศ รัฐจะได้เงินภาษีจากบริษัทเหล่านี้นำมาพัฒนาประเทศ กลายเป็นผลประโยชน์ของประชาชน

ประชาชนต้องช่วยกันใช้ “ของห่วย ของแพง” เพื่อช่วยประคองให้บริษัทในประเทศที่ไม่มีความสามารถในการแข่งขันมีโอกาสทำเงินจากผู้บริโภคในประเทศ ขอให้ประชาชนไทยช่วยเสียสละเพื่อความยั่งยืนในระยะยาว

ปัญหา คือ มันเป็นความยั่งยืนของคนบางกลุ่ม หรือ เป็นความยั่งยืนของส่วนรวม!!!

ถ้าแนวทางที่ทำอยู่ถูกต้องแล้ว ทำไมประเทศไทยจึงมีความเหลื่อมล้ำเป็นอันดับหนึ่งของโลก!

บทความ : สุทธิชัย ทักษนันต์

Leave a Reply