
จะเกิดอะไรขึ้นกับเศรษฐกิจไทย?
เมื่อไหร่จะกลับไปเหมือนเดิม?
จะผ่านพ้นวิกฤติได้อย่างไร?
ไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 มีรายงานล่าสุดจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ติดลบ 12.2% และมีการประเมินต่อไปว่าทั้งปี 2563 GDP ไทย คือ -7.8% ถึง -7.3%
ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์ GDP ปี 2563 อยู่ที่ -8.1% และจะเริ่มเป็นบวกในปี 2564 ที่ 5% และปี 2565 ประเทศไทยถึงจะมีตัวเลข GDP ในระดับเดียวกับปี 2562
สิ่งที่จะมีผลตามมา คือ สัดส่วนของ NPL หรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้จะต้องมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หมายถึงทั้งหนี้สินบริษัท และหนี้สินส่วนบุคคล
นักวิเคราะห์จากหลายสำนักคาดการณ์ว่า อาจมีตัวเลขการว่างงานในประเทศไทยระหว่าง 8 – 10 ล้านคน
ผลกระทบจากโควิด-19 เป็นวิกฤติเศรษฐกิจที่ร้ายแรงที่สุดของประเทศไทย เลวร้ายกว่าต้มยำกุ้งปี 2540
ทางภาครัฐรู้ดีว่า มีปัญหาเศรษฐกิจครั้งใหญ่แน่ๆ มีมาตรการณ์หลายอย่างที่อัดฉีดเงินเข้ามาในระบบ สถาบันการเงินยอมให้ลูกหนี้หยุดจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยทั้งระบบนาน 6 เดือน จะสิ้นสุดในเดือนกันยายน 2563 หากไม่มีการยืดหยุ่นอะไรให้อีก ลูกหนี้ทุกรายจะต้องเริ่มต้นจ่ายดอกเบี้ยและใช้คืนเงินต้นตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 เป็นต้นไป
ภาครัฐอาจมีมาตรการณ์ยืดหยุ่นเพื่อยืดหนี้ออกไปอีก หากไม่ยืดหนี้อีกครั้ง ก็คงได้เห็นตัวเลข NPL พุ่งสูงขึ้นแบบก้าวกระโดดแน่ๆ
ทางออก หรือทางบรรเทาจากวิกฤติครั้งนี้ เป็นอย่างไร?
นักวิเคราะห์ทั่วโลกชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า ต้องเปลี่ยนจาก Globalization มาเป็น Localization พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ พยายามหากินกันเองภายในประเทศ พึ่งพาตัวเองเป็นหลัก
ธุรกิจท่องเที่ยวไทยที่เคยมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก เวลานี้หดหายไปหมด แต่สำหรับใครที่พึ่งพานักท่องเที่ยวภายในประเทศก็ยังพอเอาตัวรอดไปได้
ห้างสรรพสินค้า และร้านค้าต่างๆที่อยู่ในพื้นที่ซึ่งอาศัยนักท่องเที่ยวเป็นหลัก ส่วนใหญ่อยู่ในสภาวะขาดทุน ในขณะที่ห้างหรือร้านค้าที่หากินกับคนไทยด้วยกันเอง ยังพอหาทางทำกำไรได้
โครงสร้างพื้นฐานของเศรษฐกิจไทย ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อการค้าขายกับคนไทยด้วยกันเองเป็นหลัก
วันนี้ส่งออกไม่ดี นักท่องเที่ยวไม่มี แต่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังอยู่ในสภาพเดิม หลายแห่งเตรียมพร้อมสำหรับการค้าขายกับต่างชาติ แต่วันนี้ไม่มีลูกค้า หมายความว่ายังมีรายจ่ายสูงเหมือนเดิม แต่รายได้หดหายไปเกือบหมด
ผู้ประกอบการทุกแห่งกำลังหาทางปรับตัว และคงมีหลายรายที่ไม่มีหนทางปรับตัวจากฐานเดิม
สำหรับคนทำงาน หรือลูกจ้างที่อาจตกงาน 8 – 10 ล้านคน รัฐบาลมีทางออกที่ง่ายที่สุด คือ ผลักดันคนกลุ่มนี้เข้าไปทดแทนแรงงานต่างด้าวซึ่งประเทศไทยเคยจ้างเข้ามานับสิบล้านคน
ไม่ต้องจ้างคนงาน พม่า ลาว กัมพูชา แล้ว หันมาจ้างคนไทยด้วยกันเอง
แต่จะมีคนตกงานไทยมากน้อยแค่ไหนที่สามารถปรับตัวไปทำงานเหล่านั้นได้?
จะยอมเป็นคนงานก่อสร้างหรือเปล่า?
จะยอมทำงานเป็นผู้ใช้แรงงานในโรงงานหรือไม่?
จะยอมไปเป็นลูกเรือ ออกหาปลาเป็นชาวประมงไหม?
คนตกงานไทยที่ยังมีถิ่นฐานเดิมเป็นเกษตรกร เขาคงเลือกกลับไป ทำไร่ ทำนา ที่บ้าน
ในยามนี้ ต้องหาทางเอาตัวรอดให้ได้ก่อน ไม่มีทางให้เลือกมากนัก!
แต่ปัญหาที่คิดไม่ตกของนักธุรกิจและคนทำงานจำนวนมาก คือ รายได้ที่เคยหาได้อย่างสม่ำเสมอ วันนี้หดหายไป หนี้สินที่มีอยู่กลายเป็นปัญหา ไม่สามารถใช้คืนเจ้าหนี้ได้
ลูกหนี้ NPL ในวันนี้ และกำลังจะมีเพิ่มขึ้นอีกมาก เกิดขึ้นเพราะรายได้หดหายไปแบบกะทันหันแบบไม่คาดฝัน มันเกิดขึ้นพร้อมกันทั่วโลก จีน สหรัฐอเมริกา ยุโรป หรือเอเชีย เจอปัญหาแบบเดียวกัน มีลูกหนี้ NPL จำนวนมากที่ไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ย ไม่สามารถจ่ายเงินต้นที่กู้มาได้
ตอนที่ไปกู้ยืมจากสถาบันการเงินต่างๆ พวกเขามีความมั่นใจว่าสามารถใช้คืนดอกเบี้ยและเงินต้นได้ เจ้าหนี้ก็วิเคราะห์แล้วว่าบุคคลเหล่านี้เป็นผู้มีความสามารถในการชำระคืนหนี้และดอกเบี้ยได้
ลูกหนี้ NPL ที่เกิดจากวิกฤติ ไม่มีเจตนาฉ้อฉลคดโกง ซึ่งเจ้าหนี้ก็เข้าใจ รัฐบาลของแต่ละประเทศก็พยายามช่วยเหลือ แต่จะช่วยเหลือได้แค่ไหน?
สาเหตุที่ไม่สามารถใช้คืนหนี้เป็นเรื่องสุดวิสัย และแต่ละคนจะต้องพยายามหาทางออกจากปัญหาให้ได้ สุดท้ายแล้วหลักทรัพย์ค้ำประกันที่อยู่กับเจ้าหนี้จะต้องถูกยึดไปขายทอดตลาด หากหลักทรัพย์มีมูลค่าไม่พอจ่ายหนี้ เจ้าของธุรกิจซึ่งมักจะเอาตัวเองค้ำประกันหนี้ จะต้องมีส่วนร่วมในการใช้หนี้ และจะถูกฟ้องจากสถาบันการเงิน ผู้ค้ำประกันอาจต้องล้มละลายไปพร้อมกับบริษัท
เมื่อสัปดาห์ก่อน ผมมีโอกาสคุยกับคุณสวัสดิ์ หอรุ่งเรือง ต้นตำรับลูกหนี้ที่เด็ด เจ้าของฉายา “ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย” มีแฟนเพจบางรายมองว่าเป็นการสื่อความหมายกับคนอ่านในทางที่ไม่ดี เพราะมีความเห็นว่า ลูกหนี้ที่ดีต้องรับผิดชอบใช้คืนหนี้สินของตัวเอง
ในมุมมองของเจ้าหนี้ “3 ไม่” ของคุณสวัสดิ์ ฟังดูแล้วลบมากๆ แต่ที่จริงมันเป็นตัวอย่างทางออกที่ทำให้รอดตัวได้
สุดท้ายแล้วก็มีการแปลงหนี้สินเป็นทุน เจ้าหนี้ได้ธุรกิจไปทำ และคุณสวัสดิ์ยังมีเงินเหลือบางส่วนจากการขายธุรกิจ
โพสต์ที่เคยเขียนถึงคุณสวัสดิ์ หอรุ่งเรือง มีเจตนาสื่อให้เห็นว่า คนที่เป็นหนี้ในวันนี้ หากคุณไม่ได้คดโกง หากคุณไม่ได้ฉ้อฉล หากคุณไม่มีเจตนาเบี้ยวหนี้ ก็ไม่ต้องกลัว มันไม่ใช่คดีอาญา ไม่มีใครต้องต้องติดคุก ยังมีโอกาสที่จะเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้
แต่สิ่งที่เป็นอยู่ในวันนี้ คือ คนไทยจำนวนมากกำลังสิ้นหวัง และไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหาหนี้สินอย่างไร สภาพเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย ยังไม่เห็นทางสว่าง
ลูกหนี้ที่ไม่มีทางออกหลายคน ทำใจยอมรับลำบาก และบางคนอาจคิดสั้น ลาโลกหนีปัญหา
เราอยากให้กำลังใจทุกคนที่เป็นหนี้จากปัญหาโควิด-19 หาทางผ่านพ้นวิกฤติไปให้ได้
หากรักษาธุรกิจไว้ไม่ได้ หรืออาจถึงขั้นต้องขายบ้านขายรถ ขายสมบัติส่วนตัวเพื่อใช้หนี้ ก็ขอให้ทำใจยอมรับสภาพ มันเป็นเรื่องสุดวิสัย หากตัดใจได้เร็วกว่า จะเสียหายน้อยกว่า
ความพลาดพลั้งแบบนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ และมันจะกลายเป็นบทเรียนชีวิตครั้งสำคัญที่ทำให้แข็งแกร่งขึ้น
บทความ : สุทธิชัย ทักษนันต์
https://voicetv.co.th/read/HvzaGTs44
https://www.wealthythai.com/web/contents/WT200700153
https://www.facebook.com/turakij4.0/photos/a.698141950343830/1706959739462041/?type=3&theater