Bionic Vision ตาบอดแต่มองเห็นได้ กล้องที่ตาส่งสัญญาณไฟฟ้าให้สมอง เหมือนการปลูกถ่ายสมอง Neuralink ชีวภาพกับอีเล็กทรอนิกส์เชื่อมกันได้

เมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2020 Neuralink ที่ก่อตั้งโดย อีลอน มัสก์ เป็นข่าวดัง ความก้าวหน้าของโครงการเชื่อมรวมสมองคนเข้ากับคอมพิวเตอร์หรือ AI

แนวคิด คือ การเจาะกะโหลกออกเท่าประมาณเหรียญ แล้วเอาอุปกรณ์ชิปคอมพิวเตอร์พร้อมสายไฟใส่เข้าไปแทน ทำให้เซลล์ประสาทสามารถทำงานร่วมกับคอมพิวเตอร์

การทำงานของประสาท ความคิดของคน ส่งผ่านไปมาด้วยกระแสไฟฟ้า ทำให้คอมพิวเตอร์สามารถทำงานร่วมกับเซลล์ประสาทได้

แนวคิดของ อีลอน มัสก์ ไม่ใช่เรื่องใหม่ทั้งหมด มีหลายองค์กรที่ใช้แนวคิดเดียวกันนี้ ไปพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านการดูแลสุขภาพ

นักวิทยาศาสตร์จาก Baylor College of Medicine ใน Houston เคยพัฒนาการปลูกถ่ายสมองสำหรับคนตาบอดมาก่อน อุปกรณ์ “Visual Prosthetic” ทำให้คนที่มองไม่เห็นรู้ว่ารูปร่างของตัวหนังสือแต่ละตัวแตกต่างกันอย่างไร มีการส่งสัญญาณให้สมองได้รับรู้ว่าภาพที่อยู่ตรงหน้าเป็นตัวหนังสืออะไรบ้าง

และที่เป็นข่าวล่าสุดในวันนี้ มาจาก Monash University ใน Melbourne ประเทศออสเตรเลีย มีการสร้าง Bionic Eye ที่ช่วยทำให้คนตาบอดมองเห็นได้

สาเหตุหลักที่ทำให้คนตาบอดมองไม่เห็น เพราะเส้นประสาทตาเสียหาย ไม่สามารถส่งสัญญาณภาพไปให้สมองได้

วิธีการใหม่ของนักวิจัยออสเตรเลีย คือ ตาจะถูกแทนที่ด้วยกล้อง และไม่ต้องใช้ประสาทตาที่เสียหาย ส่งสัญญาณไฟฟ้าผ่านข้ามไปให้สมอง ภาพที่มีความแตกต่างกัน จะแปลงข้อมูลเป็นสัญญาณไฟฟ้าซึ่งกระตุ้นสมองผ่านไมโครอิเล็กโทรดที่มีขนาดบางกว่าเส้นผม

ภาพที่คนตาบอดซึ่งใช้อุปกรณ์ตาไบโอนิค ไม่เหมือนกับภาพที่คนตาดีทั่วไปมองเห็น ในปัจจุบัน มีการออกแบบสร้างรูปภาพจากการรวมกันของจุดแสงมากถึง 172 จุด ที่เรียกว่า Phosphenes ถูกใช้เป็นข้อมูลในการนำทางให้รู้ถึงสภาพแวดล้อม บอกได้ว่าอยู่ในร่มหรือกลางแจ้ง รับรู้ได้ถึงการมีผู้คนและวัตถุที่อยู่รอบตัว

การพัฒนาที่เกิดขึ้นในวันนี้ เป็นเพียงจุดเริ่มต้น ยังมีเรื่องที่ต้องศึกษาเพิ่มเติมและพัฒนาอีกมาก ภาพที่แตกต่างกันในรายละเอียดต้องสร้างเป็นสัญญาณที่แตกต่างกันให้คนที่มองไม่เห็นได้เรียนรู้อีกมาก

เมื่อเดือนกรกฎาคม 2020 มีการทดลองการปลูกถ่ายอุปกรณ์กับแกะสามตัวมาก่อน และมีความปลอดภัยดี แกะทั้งสามตัวถูกกระตุ้นสะสม 2,700 ชั่วโมง และไม่มีอะไรที่เป็นผลเสียต่อสุขภาพ

ในขั้นต่อไป จะเริ่มมีการทดลองกับคนครั้งแรกในโลก

จุดเริ่มต้นของโครงการนี้ เพื่อช่วยเหลือคนตาบอดให้กลับมามองเห็นอีกครั้ง แต่ทางทีมงานวิจัยของ Monash University คาดว่า จะสามารถพัฒนาโครงการนี้ไปช่วยเหลือด้านสุขภาพอีกหลายอย่าง เช่น

-การบาดเจ็บของไขสันหลัก

-การควบคุมโรคลมบ้าหมู

-การรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้า

-ช่วยคนพิการให้สามารถใช้ขาใช้มือได้ สามารถใช้สมองส่งสัญญาณไฟฟ้าสั่งงานให้แขนขาเทียมทำงาน

การวิจัยและพัฒนาจากหลายองค์กร เป็นการต่อยอดให้เกิดความก้าวหน้าของการวิจัยครั้งใหม่ๆที่มีตามมา

ความพยายามของนักวิทยาศาสตร์ในการทำให้ระบบชีวภาพที่มีเนื้อหนัง มีชีวิต ทำงานร่วมกับอีเล็กทรอนิกส์ ไม่ใช่เรื่องที่ไกลเกินจริง

หากเซลล์ประสาทสามารถรับรู้สัญญาณไฟฟ้าที่แตกต่างกันได้ การทำงานของสมองเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ก็น่าจะมีความเป็นไปได้….

https://www.monash.edu/news/articles/opening-eyes-to-a-frontier-in-vision-restoration

https://techcrunch.com/2020/09/15/researchers-ready-world-first-vision-restoration-device-for-human-clinical-trials/

https://futurism.com/doctors-preparing-implant-the-worlds-first-human-bionic-eye

Leave a Reply