แช่แข็งคนตาย ปลุกให้ฟื้นในอนาคต ไม่ใช่เรื่องเกินจริง ทั่วโลกมี 4 แห่ง ช่วยเก็บอวัยวะบริจาคไว้ใช้ได้นานขึ้น

การแช่แข็งมนุษย์ แล้วทำให้ฟื้นขึ้นมาใหม่ในอนาคต เป็นแนวคิดในหนังหลายเรื่อง มันไม่ใช่เรื่องเกินเลยความจริง โลกมีการวิจัยพัฒนากันอย่างจริงจังมานานกว่าสิบปีแล้ว มีศัพท์เฉพาะเรียกว่า Cryonics

ไครโอนิกส์ คือ การแช่แข็งร่างของสิ่งมีชีวิต เพื่อคงสภาพเซลล์เนื้อเยื่อของร่างกายได้นานๆ เนื่องจากเป็นร่างของผู้ที่เป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาได้ในปัจจุบัน และหวังว่าจะทำให้ฟื้นคืนชีพอีกครั้งในอนาคตเมื่อวิวัฒนาการทางด้านการแพทย์พัฒนาขึ้นจนสามารถรักษาโรคนั้นได้

เทคนิคการคงสภาพเดิมของร่างกายที่มีการใช้ คือ การแช่แข็งด้วยไนโตรเจนเหลวภายใต้อุณหภูมิที่ต่ำกว่า -196 องศาเซลเซียส

Cryos มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกว่า Kryos หมายถึง เย็นจัด หรือ หนาวมาก และเป็นที่มาของคำว่า Cryonics

ในปัจจุบัน ทั่วโลกมี 4 สถาบันที่กำลังวิจัยพัฒนาเทคโนโลยี โครโอนิกส์ คือ

1. Alcor Life Extension Foundation – Phoenix, Arizona, USA

2. Cryonics Institute – Michigan, USA

3. KrioRus – Russia

4. Shandong Yinfeng Life Science Research Institute – Jinan, China

สถาบันทั้ง 4 แห่ง ให้บริการแช่แข็งคนตายหรือสัตว์ตาย มานานนับทศวรรษแล้ว

สถาบันที่ศึกษาและให้บริการแช่แข็ง ไครโอนิกส์ ในอเมริกามีประเด็นเรื่องจริยธรรมที่ถกเถียงกันมาก ในขณะที่ประเทศจีนไม่มีปัญหาเรื่องนี้

ในปี 2019 มีคนที่ไปเยี่ยมชมโครงการวิจัยของ ชานตง ยินเฟ็ง มากกว่า 100 ราย และมี 60 รายที่ยอมเป็นสมาชิก และแจ้งว่าพวกเขาจะยอมให้ร่างกายตัวเองเข้าร่วมขบวนการ ไครโอนิกส์

โครงการของ ยินเฟ็ง เป็นความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจีนในมณฑลอานฮุย และโรงพยาบาลคิลู่ของมหาวิทยาลัยชานตง

มีคนไข้ที่เสียชีวิต 10 ราย แช่แข็งแบบ ไครโอนิกส์ อยู่ที่สถาบันยินเฟ็ง ซึ่งเพิ่งเริ่มเปิดโครงการในปี 2015 แต่ในปัจจุบันเริ่มมีคนจีนสนใจโครงการนี้มากขึ้น และมีแนวโน้มจะมีผู้เข้าร่วมโครงการนี้มากขึ้นต่อเนื่องในอนาคต

แม้ว่ารัฐบาลจีนจะเห็นด้วยกับการทำ ไครโอนิกส์ แต่ไม่ต้องการให้มุ่งเน้นเรื่องการแช่แข็งมนุษย์เท่านั้น มันควรเป็นโครงการที่ให้ประโยชน์ทางการแพทย์โดยกว้าง

จีนได้พัฒนาเทคโนโลยีนี้ เอาไปใช้สำหรับการแช่แข็งอวัยวะมนุษย์เพื่อให้มันคงสภาพและใช้งานได้นานขึ้น

ปัญหาใหญ่ของการผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายอวัยวะมนุษย์ในวันนี้ คือ อวัยวะที่ผ่าตัดออกมาจากร่างผู้บริจาคหรือผู้ตายที่ได้รับอุบัติเหตุ เมื่อเอาออกจากร่างเดิม มันอาจมีระยะเวลาที่ใช้ได้เพียง 6 ชั่วโมง เพราะเนื้อเยื่อต่างๆจะเริ่มตายหลังจากนั้น

การเดินทางในหลายพื้นที่ไม่มีความสะดวก และอาจต้องใช้เวลาในการขนย้ายนาน และยังมีขบวนการทำงานเพื่อตรวจสอบและเตรียมการอีกหลายอย่าง ต้องตรวจสอบประเภทของเลือดว่า มันสามารถเข้ากันได้หรือไม่

สิ่งที่จีนกำลังพยายามศึกษาวิจัยพัฒนาโดยใช้เทคโนโลยี ไครโอนิกส์ คือ การหาทางขยายเวลาให้อวัยวะที่ได้รับบริจาค มีระยะเวลาการใช้งานได้นานยิ่งขึ้น

สถาบัน ยินเฟ็ง กำลังมุ่งเน้นวิจัยเรื่องการคงสภาพอวัยวะให้ใช้การได้นานที่สุด และมีความก้าวหน้ากว่ามากกว่าสถาบัน ไครโอนิกส์ แห่งอื่นๆในโลก

มันหมายถึงการพลิกโฉมการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะมนุษย์ เพิ่มโอกาสการมีชีวิตรอดของมนุษย์ที่มีปัญหาสุขภาพทั่วโลก

แต่เป้าหมายใหญ่ คือ การทำให้คนที่ตายไปแล้วกลับฟื้นคืนชีพมาได้อีกครั้ง

ฟังดูเป็นเรื่องเกินจริงในปัจจุบัน แต่ไม่เกินเลยที่จะเป็นไปได้ในอนาคต…..

https://www.scmp.com/…/freezing-bodies-reanimation…

https://www.ejinsight.com/…/20170815-a-first-in-china…

Leave a Reply