
บทความ : รศ. ดร.พนา ทองมีอาคม
ความจริงบนอินเทอร์เน็ตเชื่อได้แค่ไหน ?
ดังที่ได้เคยคุยไปแล้ว ว่าเด็กยุคนี้มีความรู้ทางเลือกมากมายจากการเก็บเล็กผสมน้อยเอาเองจากสื่อสังคมและอินเทอร์เน็ต และความรู้ที่พวกเขามีนอกเหนือจากชุดความรู้ที่ได้จากการศึกษาแบบทางการนี้เองที่ทำให้คนรุ่นดิจิทัลมีความมั่นใจสูงและยึดมั่นในความคิดของตัวเอง
ปัญหาที่ตามมาคือข้อมูลความรู้เหล่านี้เชื่อได้แค่ไหน ?
ความเป็นจริงคือความรู้บนอินเทอร์เน็ตนั้น มีทั้งที่เชื่อได้และเชื่อไม่ได้ ลักษณะเด่นมากประการหนึ่งคือมันเป็นความรู้ที่ผสมปนเปกันอยู่มากมาย
มีทั้งความรู้เก่าล้าหลังและความรู้ใหม่ที่เพิ่งค้นพบ มีทั้งความรู้ที่นำเสนออย่างเป็นวิทยาศาสตร์ บริสุทธิ์ใจ จนถึงความรู้ที่มีอคติ จงใจบิดเบือนหรือมอมเมา หลอกลวง
ยกตัวอย่างวิกิพีเดีย แหล่งค้นหาความรู้หลักแห่งหนึ่งบนอินเทอร์เน็ต ความรู้บนนั้นเป็นความรู้ที่มาจากคนเขียนจำนวนมากประกอบกัน
ใครก็สามารถเข้าไปเขียน เข้าไปเพิ่มเติม และเข้าไปแก้ไขได้ตลอดเวลา
ดังนั้นวิกิพีเดียจึงเป็นความรู้ที่ยังไม่สมบูรณ์ ยังเติบโต เพิ่มเติม เปลี่ยนแปลง และสามารถถูกปลอมปนสอดใส่เรื่องเท็จได้ตลอดเวลา
แต่ในขณะเดียวกันสิ่งที่ไม่ถูกต้องบนวิกิพีเดีย ก็สามารถแก้ไขให้ถูกต้องได้ทันทีโดยผู้รู้ที่บริสุทธิ์ใจเช่นกัน ที่นี่เป็นแหล่งเปิดที่ปกปิดกันไม่ได้
ฝ่ายบริหารของวิกิก็มิได้ปล่อยไว้ตามยถากรรม การเก็บข้อมูลและบันทึกประวัติการแก้ไขของคนเข้าไปเขียน การทำหมายเหตุ การเปิดโอกาสให้มีการโต้แย้งถกเถียงกัน ก็ทำให้คุณภาพของวิกิพีเดียยืนยงเป็นแหล่งความรู้อย่างดีสำหรับผู้เริ่มต้นหาความรู้เรื่องต่าง ๆ บนนั้น
วิกิพีเดียเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นแบบไม่แสวงหากำไร ผู้ใช้สามารถค้นหาความรู้ได้ฟรีและสะดวกรวดเร็ว การเกิดขึ้นของวิกิพีเดียทำให้บริษัทผู้ผลิตเอนไซโคพีเดียต้องเร่งปรับปรุงตัวหรือไม่ก็เลิกกิจการไป
จากการศึกษาที่เคยมี พบว่าความถูกต้องของข้อมูลบนวิกิพีเดียมีช่วงความถูกต้องตั้งแต่ 80 ไปจนถึงกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นกับหน่วยงานที่ศึกษาและสาขาความรู้บนนั้น
วิกิพีเดีย เหมาะแก่การค้นคว้าเริ่มต้น เพราะฟรีและสะดวกรวดเร็ว แต่เพื่อความแน่นอนผู้ใช้อาจต้องตรวจสอบยืนยันความถูกต้องกับแหล่งอื่น ๆ
ในแวดวงการศึกษามักไม่ยอมรับการการอ้างอิงจากวิกิพีเดีย เพราะมองว่าเป็นความรู้ที่อ้างอิงไม่ได้ในทางวิชาการ ไม่รู้ว่าใครเป็นเจ้าของที่แท้จริง และไม่มีใครรับรองความรู้ที่ถูกต้องบนนั้น
การค้นหาความรู้โดยกูเกิล เป็นแหล่งยอดนิยมอีกแห่งบนอินเทอร์เน็ต การพิมพ์ค้นหาคำหรือหัวข้อความรู้บนกูเกิลจะได้ข้อมูลความรู้ออกมามากมาย และสามารถหาได้ทั้งรูปภาพ แผนที่ บทความ เพาเวอร์พอยต์ พีดีเอฟ และตำราในรูปดิจิทัล
จากกูเกิลผู้ค้นคว้าสามารถหาความรู้ต่อยอดไปได้อีกมากมาย
อย่างไรก็ตามความรู้บนกูเกิลไม่ได้นำเสนอเป็นเรื่องราวหรือมีบทสรุปโดยตัวเอง กูเกิลเพียงแต่ชี้ไปยังแหล่งความรู้ต่าง ๆ ที่มีอยู่บนอินเทอร์เน็ตเกี่ยวกับเรื่องนั้น
เนื่องจากปัจจุบัน กูเกิลเป็นเบราเซอร์ (โปรแกรมค้นหาและอ่านเวบ) ฉลาดที่สามารถเรียนรู้เกี่ยวกับผู้เข้ามาหาความรู้ และมีขีดความสามารถในการรับรู้ข้อความและความหมายต่าง ๆ ในลักษณะของปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence-AI) มันจึงพยายามเดาใจผู้เข้าไปค้นคว้าและป้อนข้อมูลที่มันคาดว่าตรงใจมากที่สุดให้
ดังนั้นการป้อนคำค้นหาเดียวกันโดยคนต่างคนอาจได้แหล่งความรู้ที่ไม่เหมือนกัน นี่เป็นที่มาของความลำเอียงในเรื่องความรู้ได้ ถ้าเบราเซอร์รู้ว่าคนค้นเป็นพวกลิเบอร์รัล มันก็จะค้นความรู้และแหล่งความรู้ที่เป็นลิเบอร์รัลมาให้
คนที่มีแนวโน้มความรู้ความคิดเห็นเดิมอย่างไร จึงมีแนวโน้มที่จะได้รับรู้และตอกย้ำความคิดในแบบเดิมๆ ของตนโดยกูเกิลได้
ความรู้ที่หาได้บนอินเทอร์เน็ตมีหลากหลายและมากมาย ปริมาณมีมากกว่าที่ค้นหาได้ในห้องสมุดใหญ่ ๆ เสียอีก อาจพูดได้ว่าความความรู้แทบทั้งหมดของมนุษยชาติสามารถหาได้จากบนอินเทอร์เน็ตก็ว่าได้
ความรู้บนนั้น มีทั้งจริงและเท็จ ทั้งยังมีการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงเพิ่มเติมตลอดเวลา และก็มีคนเผยแพร่ความรู้ปลอม ๆ กับคนที่คอยแก้ไขให้ถูกต้องอยู่ตลอดเวลาด้วย
มหาวิทยาลัยแห่งรัฐอิลินอยของสหรัฐแนะนำว่า ความรู้ที่มีอยู่บนอินเทอร์เน็ตควรตรวจสอบพิจารณาความน่าเชื่อถือดังนี้
1 ความทันสมัย (Currency)
2. ความถูกต้อง (Accuracy)
3. ความเป็นผู้รู้ (Authority)
4. เวบไซต์ที่เผยแพร่ (Host)
5. ความเป็นกลาง (Objectivity)
6. เกี่ยวข้อง ตรงประเด็น (Relevancy)
7. ใช้งานได้ดี (Functionality)
8. โฆษณา (Ads)
คำถามที่ว่าความจริงบนอินเทอร์เน็ตเชื่อได้แค่ไหน ?
ถ้าจะให้ตอบก็ต้องว่าขึ้นกับความรู้เท่าทันข้อมูลข่าวสาร (Information Literacy) ของผู้แสวงหาความรู้ที่จะตรวจสอบและสอบทานความถูกต้อง
ที่ปฏิเสธไม่ได้เลยคืออินเทอร์เน็ตเป็นแหล่งความรู้ชั้นดี