
ช่วงปลายเดือนตุลาคมของทุกปี Credit Suisse จะมีรายงานความมั่งคั่งของประเทศต่างๆทั่วโลก และมีข้อมูลผลการวิจัยเกี่ยวกับประเทศไทยด้วย
สำหรับรายงานความจนความรวยจาก เครดิตสวิส ประจำปี 2020 มีเฉพาะฉบับชั่วคราว เพราะติดปัญหาการระบาดของโควิด-19 แต่จะมีรายงานฉบับสมบูรณ์ออกมาในช่วงไตรมาสสองของปี 2021
หากมีรายงานฉบับสมบูรณ์ จะได้รู้ว่าปี 2020 ประเทศไทยได้แชมป์โลกประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลกอีกครั้งหรือไม่
นับตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา เครดิตสวิส มีผลการวิจัยอย่างต่อเนื่องทุกปีว่า คนไทย 1% เป็นผู้ครอบครองความมั่งคั่งของทรัพย์สินที่มีอยู่ทั้งประเทศไทยมากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศ
จากผลการวิจัยที่นำมาวิเคราะห์รวม 8 ปี ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลก 3 ครั้ง คือ 2013, 2017, 2018
ปีที่ไทยมีความเหลื่อมล้ำเลวร้ายที่สุด คือ ปี 2018
-คนไทย 1% คอบครองความมั่งคั่งของประเทศ 66.9%
-คนไทย 5% คอบครองความมั่งคั่งของประเทศ 79.9%
-คนไทย 10% คอบครองความมั่งคั่งของประเทศ 85.7%
นอกจากประเทศไทยแล้ว ประเทศอื่นที่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำรุนแรง คือ อินเดีย อินโดนีเซีย และ รัสเซีย
แต่สองสามปีที่ผ่านมา ผลการวิจัยชี้ให้เห็นแนวโน้มของความเหลื่อมล้ำที่ลดลงในประเทศ อินเดีย และ อินโดนีเซีย ในขณะที่ ไทย และ รัสเซีย ยังเหลื่อมล้ำรุนแรงต่อเนื่องไม่เปลี่ยนแปลง
ความเหลื่อมล้ำของประชาชนในแต่ละประเทศ สาเหตุหลักมาจากความแตกต่างของรายได้ของประชากร
คนที่มีรายได้น้อย คงมีเงินที่หาได้สำหรับการครองชีพประจำวันเท่านั้น ไม่มีเงินเหลือเก็บ ไม่มีโอกาสเพิ่มความมั่งคั่งให้กับตัวเอง ในขณะที่คนรวยที่มีรายได้มากๆแบบเหลือกินเหลือใช้ จะมีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ถ้าจะสรุปว่า มีคนไทยเพียง 10% เป็นพวกขยันทำงาน เลยทำให้พวกเขาสามารถอยู่ในส่วนบนของสังคมได้ มันเป็นข้อสรุปที่ง่ายเกินไป มันยังมีสาเหตุอื่นอีกมาก
ประเทศไทยมีปัญหาใหญ่เรื่อง โครงสร้างการกระจายรายได้ ทำให้เกิด “รวยกระจุก จนกระจาย”
ในประเทศพัฒนาแล้วก็มีคนรวยมากๆ แต่คนส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลาง ไม่ได้มีคนชั้นล่างมากมายเหมือนอย่างที่เป็นอยู่ในประเทศไทย
ตัวเลขย้อนหลัง 8 ปี ของคนไทย 1% ที่รวยที่สุด ถือครองความมั่งคั่งคิดเป็นสัดส่วนของทรัพย์สินของประเทศไทย ดังนี้
2019 = 50.4%
2018 = 66.9%
2017 = 56.2%
2016 = 58.0%
2015 = 56.0%
2014 = 50.5%
2013 = 50.6%
2012 = 43.1%
ตัวเลขย้อนหลัง 8 ปี ของคนไทย 5% ที่รวยที่สุด ถือครองความมั่งคั่งคิดเป็นสัดส่วนของทรัพย์สินของประเทศไทย ดังนี้
2019 = 67.8%
2018 = 79.9%
2017 = 71.4%
2016 = 72.9%
2015 = 71.3%
2014 = 66.9%
2013 = 67.0%
2012 = 60.7%
ตัวเลขย้อนหลัง 8 ปี ของคนไทย 10% ที่รวยที่สุด ถือครองความมั่งคั่งคิดเป็นสัดส่วนของทรัพย์สินของประเทศไทย ดังนี้
2019 = 76.6%
2018 = 85.7%
2017 = 78.7%
2016 = 79.9%
2015 = 78.6%
2014 = 75.0%
2013 = 75.1%
2012 = 70.0%
ทุกปีที่ Credit Suisse รายงานผลการวิจัยความเหลื่อมล้ำของคนในประเทศไทย เราจะได้ยินคนของรัฐบาลหรือคนที่เชียร์รัฐบาล ออกมาแก้ตัว โจมตีผลการวิจัยชุดนี้อยู่เสมอ
วิธีการวิจัย รายงานผลการวิจัย ของแต่ละปี เป็นข้อมูลสาธารณะที่ใครๆก็สามารถตรวจสอบได้ (ค้นหาได้ตามลิงก์ข้างท้าย)
ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่หนักหนาสาหัสในประเทศไทย ไม่ใช่เรื่องใหม่ ทุกคนรู้ดี แต่มันไม่เคยได้รับการแก้ไขจากรัฐบาลปัจจุบัน
หลายวันก่อน ได้ยินนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลไทย แสดงความคิดเห็นว่า มันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานาน เป็นมาหลายยุคสมัยแล้ว
ความเหลื่อมล้ำของไทย เริ่มรุนแรงชัดเจนตั้งแต่ปี 2013
นับตั้งแต่ปี 2013-2019 ผลการวิจัยทุกครั้งแสดงให้เห็นว่า คนรวยในประเทศไทย 1% ครองความมั่งคั่งของทั้งประเทศได้มากกว่า 50%
มันเกิดอะไรขึ้นตั้งแต่ปี 2013 หรือ พ.ศ. 2556?
หลังจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง มีการชัตดาวน์กรุงเทพฯ ในที่สุดก็มีการรัฐประหารของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557
นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ประเทศไทยก็ไม่เหมือนเดิม
หากไม่มีการเปลี่ยนแปลง อนาคตประเทศไทยก็จะยังอยู่ในทิศทางเดิม…!!!