แหล่งเงินทุนของเถ้าแก่ “สตาร์ทอัพ” CROWD, VENTURE, SPAC, ICO, IPO ถ้าผู้ลงทุนเห็นโอกาส จะอัดฉีดเงินให้ แต่ลงทุน “ล้มเหลว” มากกว่า “สำเร็จ”

ตำรา Finance & Banking ในมหาลัยเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน ไม่มีการสอนเรื่อง Crowd, Venture, ICO, SPAC

ธุรกิจใหม่ที่อยากได้เงินทุนก็ต้องเอาเงินของตัวเอง ครอบครัว หรือเพื่อนๆ มาร่วมลงขันเริ่มต้นธุรกิจ จะไปขอกู้เงินจากแบงก์ก็ต้องมีหลักทรัพย์หรือบุคคลช่วยค้ำประกัน บริษัทใหม่ที่มีผลประกอบการไม่ดี ไม่มีตัวเลขกำไรติดต่อกันสามปี โอกาสกู้เงินจากสถาบันการเงินได้มีน้อยมาก

ธุรกิจ 4.0 จะนำเสนอซีรีย์แหล่งเงินทุนเถ้าแก่ยุคสตาร์ทอัพ โดยคราวนี้จะให้ข้อมูลแบบภาพรวมก่อน และในโอกาสต่อๆไปจะนำเสนอแบบเจาะลึกของแต่ละรูปแบบ

Crowdfunding แปลความหมายแบบตรงตัวได้ว่า “เงินทุนจากฝูงชน” เริ่มต้นด้วยการทำ White Paper ชี้แจงให้เห็นแนวคิดธุรกิจของผู้ก่อตั้ง วิสัยทัศน์ พันธกิจ เป็นอย่างไร ใครเห็นอนาคตก็มาร่วมลงทุนด้วย ช่วงเวลาที่เข้าร่วมลงทุนอาจเกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มแรก หรือดำเนินธุรกิจไปแล้วซักพักก็ได้

สตาร์ทอัพสามารถชักชวนผู้ร่วมลงทุนเป็นรายบุคคล หรือประกาศแบบสาธารณะ หากเข้าไปดูในเว็บไซต์ของสตาร์ทอัพใหม่ๆหลายแห่ง จะเห็นการชักชวนการลงทุนในลักษณะนี้อยู่เป็นประจำ

Tony Woodsome อดีตนายกรัฐมนตรีคนดังของไทย วันนี้กำลังลงทุนแบบ Crowdfunding กับสตาร์ทอัพหลายแห่ง เคยไปพูดใน Clubhouse บอกให้ฟังว่า ลงทุน 10 แห่ง แล้วประสบความสำเร็จ 2 แห่ง ถือว่าคุ้มค่าการลงทุน

ICO หรือ Initial Coin Offering เป็นการลงทุนที่สตาร์ทอัพออกเหรียญของตัวเอง แล้วให้สาธารณะชนมาร่วมซื้อเหรียญคริปโต

เหรียญจะมีมูลค่าขึ้นลง คล้ายกับราคาขึ้นลงของหุ้น โดยปกติแล้ว บริษัทที่ออก ICO เป็นบริษัททางด้านเทคโนโลยี

โดยภาพรวมแล้ว รูปแบบการลงทุนแบบ ICO จะใกล้เคียงกับ Crowdfunding เปิดให้สาธารณะชนมาร่วมลงทุนได้

Venture Funding หรือ Venture Capital เป็นการให้เงินทุนกับสตาร์ตอัพที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา และยังนิยมกันมากในปัจจุบัน การกำเนิดของ Apple, Google, Amazon, Uber ก็ได้ทุนมาจากเวนเจอร์แคปปิตอล

สเตจที่เข้าไปร่วมลงทุนของเวนเจอร์แบ่งเป็นซีรีย์ต่างๆ เช่น A, B, C

เวนเจอร์แคปปิตอลใหญ่ๆ ไม่นิยมเข้าไปลงทุนกับสตาร์ทอัพตั้งแต่ช่วงซีรีย์แรกๆ เพราะยังมองภาพอนาคตไม่ออก มีข้อมูลให้วิเคราะห์ไม่เพียงพอ ไม่ต้องการแบกรับความเสี่ยงสูงเกินไป

การลงทุนของเวนเจอร์แคปปิตอล ในปี 2020 คือ

-อเมริกา 156,200 ล้านดอลลาร์ หรือเท่ากับ 428 ล้านดอลลาร์ต่อวัน

-เอเชีย 80,000 ล้านดอลลาร์

-ยุโรป 40,000 ล้านดอลลาร์

SPAC หรือ Special Purpose Acquisition Companies แปลความหมายตรงตัวว่า วัตถุประสงค์พิเศษเพื่อการเข้าซื้อกิจการบริษัท เป็นรูปแบบการลงทุนในสตาร์ทอัพที่กำลังได้รับความนิยมกันมากในปัจจุบัน แต่คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่คุ้นเคย

SPAC เริ่มต้นธุรกิจด้วยการเป็นบริษัทมหาชน ระดมทุนซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ทันที

ตอนเสนอขายหุ้น SPAC ให้กับมหาชน ผู้ลงทุนไม่รู้ว่ากำลังเอาเงินไปลงทุนกับบริษัทไหน ชื่ออะไร แต่ผู้ก่อตั้ง SPAC เป็นกลุ่มคนที่น่าเชื่อถือ อาจมีความเชี่ยวชาญในสตาร์ทอัพเฉพาะด้านบางสาขา

กลุ่มผู้ก่อตั้ง SPAC มีศัพท์เฉพาะเรียกว่า Sponsor

โดยปกติแล้ว ผู้ก่อตั้ง SPAC มีเป้าหมายอยู่แล้วว่าจะซื้อสตาร์ทอัพไหน แต่ไม่เปิดเผยให้ใครรู้ เพราะมันอาจทำให้การตกลงซื้อขายกิจการไม่ราบรื่น มีการอัพราคาจนดีลล่ม

สตาร์ทอัพที่เป็นเป้าหมายของ SPAC จะมีโอกาสกลายเป็นบริษัทมหาชน ได้อย่างรวดเร็ว

แม้ว่าผู้ลงทุนกับ SPAC จะไม่รู้มาก่อนว่า ทางผู้ก่อตั้งหรือสปอนเซอร์ จะเอาเงินไปลงทุนกับอะไร แต่ถือว่าเป็นการลงทุนที่เสี่ยงต่ำ เพราะหากผ่านไปประมาณ 2 ปี ยังไม่มีการซื้อกิจการไหน จะต้องคืนเงินลงทุนให้กับผู้ซื้อหุ้น SPAC หรือเมื่อถึงวันที่รู้แน่ชัดว่าไปลงทุนกับสตาร์ทอัพไหนแล้ว หากผู้ลงทุนไม่เห็นด้วย ก็สามารถขายหุ้นคืนได้

โดยภาพรวมแล้ว เถ้าแก่สตาร์ทอัพในยุคนี้มีแหล่งเงินทุนมากมาย แต่สตาร์ทอัพที่ได้เงินลงทุน จะต้องเป็นโครงการที่ทางผู้ลงทุนเห็นโอกาสว่า จะทำกำไรจากการลงทุนได้จริงๆ

การลงทุนกับสตาร์ทอัพ ถือว่าเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง ลงทุนไป 10 แห่ง อาจล้มเหลว 8 แห่ง แต่ประสบความสำเร็จ 2 แห่ง ก็คุ้มค่าการลงทุน เพราะ 2 แห่งของสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จ อาจทำกำไรได้เป็น 100 เท่า

ปลายทางสำคัญของการลงทุนในสตาร์ทอัพ คือ การทำ IPO เอาหุ้นเข้าไปขายในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งหมายถึงมีการกลั่นกรองจากนักวิเคราะห์หลายฝ่ายที่เห็นถึงความยั่งยืนของธุรกิจ

เคยได้ยินสตาร์ทอัพจำนวนมาก บ่นให้ฟังว่า หาเงินทุนยาก นักลงทุนไม่เข้าใจ

ที่จริง ผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพ สามารถใช้ประโยชน์จากความเห็นของผู้ที่ไม่ยอมร่วมลงทุน จะได้รู้ว่านักลงทุนส่วนใหญ่เขากังวลเรื่องอะไร พวกเขากำลังให้ข้อมูลที่เป็นตัวกลั่นกรองว่าโครงการนี้มีโอกาสประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน

มันมีมุมมองที่แตกต่างกันสองด้าน

หาผู้ร่วมลงทุนไม่ได้ ทำให้โครงการที่เราคิดว่าดี จบตั้งแต่ยังไม่เริ่มต้น

แต่ในทางตรงกันข้าม มันอาจหมายถึง “โชคดีที่ไม่ได้ทำ”

https://www.diamandis.com/blog/capital-velocity

Leave a Reply