วัคซีนมากกว่า ป้องกันชีวิตได้มากกว่า ควรให้เสรีประชาชน เลือกเทคโนโลยี รัฐรู้ได้อย่างไรว่า อะไรเหมาะสมที่สุด?

วัคซีนต้านโควิด-19 และ Technological Neutrality

ความเป็นกลางทางเทคโนโลยี หรือ Technological Neutrality (TN) เป็นแนวคิดสำคัญในการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจ สร้างมาตรฐานความปลอดภัย และยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน

หลักคิดสำคัญของ TN คือการให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนที่จะเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ตรงกับความจำเป็นของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการซื้อหา การใช้งาน การนำมาต่อยอด การค้าขาย และความสะดวก

ในการต่อสู้กับโรคร้าย Covid-19 ปัจจัยสำคัญที่สุดตอนนี้คือวัคซีน ชาติใดมีวัคซีนมาก ฉีดได้เร็ว ก็จะป้องกันรักษาชีวิตประชาชนได้มาก ปัจจุบันมีวัคซีนให้เลือกใช้อยู่หลายชนิดด้วยกัน ต่างก็ใช้เทคโนโลยีแตกต่างกัน เช่น บางชนิดใช้เชื้อไวรัสที่ตายแล้ว บางชนิดเอาชิ้นส่วนโปรตีนของไวรัสมาสร้างภูมิ บางชนิดก็เอาส่วนของยีนในโครโมโซมมาตัดต่อ ซึ่งมีรายละเอียดทางเทคโนโลยีแตกต่างกันไป

ในแง่การใช้งาน วัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีแตกต่างกันนี้ มีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกัน บางอย่างถูก บางอย่างแพง บางอย่าฉีดเข็มเดียว บางอย่างฉีดหลายเข็ม ระดับการป้องกันและผลข้างเคียงก็แตกต่างกันอีก

เพราะเทคโนโลยีที่แตกต่างกัน และผลการใช้ที่ไม่เหมือนกันนี้ ประเทศต่างๆจึงใช้แนวคิดแบบ Technology Neutral ในการปกป้องประชาชนของเขา คือยอมให้เทคโนโลยีแข่งขันกันเอง มีการใช้วัคซีนหลายชนิดในประเทศของเขา

เป็นที่รู้กันว่าวัคซีนที่ใช้สู้โควิดมีการผลิตที่รีบเร่ง เป็นการยอมให้ใช้แบบฉุกเฉินเพื่อช่วยชีวิตคน ดังนั้นยังมีเรื่องที่นักวิทยาศาสตร์ไม่รู้อีกมากในวัคซีนแต่ละตัว การเปรียบเทียบประสิทธิผลและผลข้างเคียงก็ยังไม่มีการทำโดยละเอียด

การอนุญาตให้ใช้งานในตลาดจึงเสมือนการปล่อยให้ตลาดแข่งขันและทดลองใช้จริงไปในตัว ดังเราจะเห็นมีข่าวเรื่องผลกระทบข้างเคียงออกมาอยู่เรื่อยๆ หลายประเทศก็ยังปรับเปลี่ยนขนาดยา ปรับเปลี่ยนระยะห่างของวัคซีแต่ละเข็ม บ้างคิดจะผสมวัคซีนหลายชนิด เป็นต้น

ในแง่ของการกำกับดูแล รัฐหรือองค์กรกำกับที่คิดแบบ Technological Neutrality นี้ จะไม่บังคับตลาดหรือเอกชนให้ต้องใช้เทคโนโลยีแบบใดแบบหนึ่งให้บริการ

กฎกติกา หรือนโยบายใดที่ออกมา จะใช้บังคับกับเทคโนโลยีทุกชนิดโดยเท่าเทียม ไม่ได้มุ่งให้ประโยชน์หรือบังคับเฉพาะกับเทคโนโลยีใดเป็นการเฉพาะ

รัฐเพียงดูแลเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย ประสิทธิภาพขั้นต่ำ ระดับการแพ้ ผลข้างเคียง และความรับผิด พวกนี้เป็นต้น

ในรัฐเสรีประชาธิปไตย รัฐคือผู้สร้างและผู้รักษากติกา การเลือกเทคโนโลยีอาจมีได้เฉพาะธุรกิจผูกขาดตามธรรมชาติ เช่นไฟ 220 โวลต์ แต่ไม่ใช่หน้าที่รัฐที่จะไปเลือกเทคโนโลยีให้ประชาชนเอาเอง เพราะนั่นเป็นการผูกขาดตัดตอนตลาด เป็นการต้อนให้ผู้ใช้ไม่มีทางเลือก จำต้องตกอยู่ในกำมือนายทุนบางคน เท่ากับเอาประชาชนไปเสี่ยง และจะนำมาซึ่งตลาดมืด ของเถื่อน ของขาดตลาด ขูดรีดราคา

ยังมีปัญหาชวนคิดจากการเลือกเทคโนโลยี คือ รัฐจะเป็นผู้รู้ดีแต่เพียงผู้เดียวหรือว่าวัคซีนตัวไหนดีที่สุด? อันตรายน้อยที่สุด? เหมาะกับประชาชนที่สุด? ดีกับทุกคนทุกองค์กร?

นี่เป็นไปไม่ได้เลย

แล้วถ้ารัฐผิดหรือเข้าใจผิดล่ะ รัฐจะรับผิดชอบชีวิตคนอย่างไร?

เข้าใจหรอก ว่ารัฐมีการสั่งซื้อของรัฐเองเพราะหลายประเทศเขาก็ทำแบบนี้ แต่ที่น่าสงสัยก็คือหลายประเทศเขาใช้วัคซีนหลายตัวหลายเทคโนโลยี เขามีเกณฑ์และมีคำอธิบายดีๆ และเขาก็ไม่ได้ห้าม ไม่ได้บังคับเอกชน หรือไม่ถ่วงเวลาเอกชนไม่ให้เข้าตลาด

ปล่อยเสรีวัคซีนเถิด โรงพยาบาลเอกชนเขาอยากสั่งก็ปล่อยเขาให้สั่งได้เสรี องค์กรไหนที่เขาจะสั่งมาฉีดให้พนักงานของเขาก็ปล่อยให้เขาทำเถิด นึกว่าช่วยๆกันให้ประชาชนได้มีทางเลือกใช้วัคซีนดีๆกัน

ชีวิตประชาชนสำคัญกว่าเงินและศักดิ์ศรีปลอมๆมิใช่หรือ ?

(บทความ: รศ.ดร.พนา ทองมีอาคม)

Leave a Reply