ไมโครชิปติดปีก เล็กจิ๋วเท่าเม็ดทราย เลียนแบบธรรมชาติการแพร่พันธุ์พืช ใช้ตรวจวัดมลพิษในสภาพแวดล้อม ตรวจหาเชื้อโรคในอากาศ

วิศวกรจาก Northwestern University เผยแพร่ผลการวิจัยล่าสุดใน Nature วันที่ 23-09-2021 เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับไมโครชิปอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้มันลอยอยู่ในอากาศได้นาน มีขนาดเล็กเท่าเม็ดทราย

เป็นไมโครชิปติดปีก 2D แต่พอเอาไปใช้งานมันจะเป็น 3D เหมือนหนังสือเด็กซึ่งดูเรียบแบน แต่เวลาเปิดออกมามันขยายตัวออกเป็นภาพที่มีรูปทรงต่างๆได้

วิศวกรผู้ออกแบบได้แรงบันดาลใจมาจากต้นเมเปิ้ล เมล็ดใบพัด และพืชหลายชนิดซึ่งหมุนเหมือนเฮลิคอปเตอร์ในอากาศสู่พื้นดิน ตกพื้นแล้วเวลาเจอลมพัดก็ลอยขึ้นมาได้อีก เป็นการเลียนแบบธรรมชาติที่ช่วยให้พืชสามารถแพร่ขยายพันธุ์ของมัน

มีการออกแบบไมโครชิปที่ลอยได้ โดยปรับแอโรไดนามิกให้เหมาะสมกับการใช้งานเพื่อให้สามารถลอยอยู่ในอากาศได้นานๆ เมื่อมันตกจากที่สูง จะล่วงหล่นด้วยความเร็วช้าในลักษณะที่ควบคุมได้ มีเสถียรภาพในการทรงตัว กระจายไปได้ทั่วในบริเวณกว้าง เพิ่มระยะเวลาที่มีปฏิสัมพันธ์กับอากาศ

มันเป็นไมโครชิปบินได้ที่เล็กที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยสร้างขึ้นมา ไมโครไฟเอร์เหล่านี้บรรจุด้วยเทคโนโลยีขนาดเล็กพิเศษ ซึ่งรวมถึงเซ็นเซอร์ แหล่งพลังงาน เสาอากาศสำหรับการสื่อสารไร้สาย และหน่วยความจำเพื่อเก็บข้อมูล

ถือว่าเป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่มีสเกลขนาดเล็กจิ๋ว สามารถสัมผัสสภาพแวดล้อมเพื่อเก็บข้อมูลมาใช้งานได้ดีมาก ประโยชน์ที่สามารถนำไปใช้งาน เช่น

-ตรวจวัดมลพิษในอากาศในสภาพแวดล้อมต่างๆ

-เฝ้าระวังประชากร หรือการตรวจจับหาเชื้อโรคที่เป็นแอร์บอร์นลอยอยู่ในอากาศที่คนต้องหายใจเข้าไป

-ตรวจวิเคราะห์การเคลื่อนที่ของลม พายุ

ไมโครชิพเล็กจิ๋วเป็นนาโนเทคโนโลยีซึ่งในปัจจุบันมีการพัฒนาไปมากแล้ว ส่วนการออกแบบได้ไอเดียมาจากการแพร่พันธุ์ของพืชในธรรมชาติ ส่วนการแปลงร่างจาก 2D เป็น 3D ได้ไอเดียมาจากหนังสือนิทานของเด็ก

วิทยาการในยุคนี้ จะยึดติดอยู่กับรูปแบบเดิมๆไม่ได้ ต้องรู้จัก คิดสร้างสรรค์ คิดนอกกรอบ

คิดใหม่ ทำใหม่ มันถึงจะได้อะไรใหม่ๆดีๆขึ้นมาบ้าง

https://news.northwestern.edu/stories/2021/september/microflier-winged-microchip-is-smallest-ever-human-made-flying-structure/

Posted in IoT

Leave a Reply