ค่าใช้จ่ายการเดินทางเป็นปัญหาค่าครองชีพ ขนส่งโดยสารสาธารณะทุกชนิด ไม่รองรับสำหรับทุกคน

ถ้าคุณใช้รถยนต์ส่วนตัว และใช้น้ำมันแก๊สโซฮอลล์ 95 ซึ่งวันนี้ราคา 44.65 บาทต่อลิตร หากรถของคุณมีอัตราการกินน้ำมันเฉลี่ย 10 กิโลเมตร ต่อลิตร ค่าใช้จ่ายการเดินทางจะเท่ากับ 4.47 บาท ต่อกิโลเมตร นี่ยังไม่รวมถึงค่าสึกหรอและราคารถที่ซื้อมา

ในกรณีที่ใช้รถจักรยานยนต์ขนาด 125 CC ถ้าอัตราการกินน้ำมันอยู่ที่ 40 กิโลเมตรต่อลิตร ต้นทุนค่าเดินทางจะอยู่ที่ประมาณ 1.12 บาท ต่อกิโลเมตร

รถยนต์ส่วนตัว รถจักยานยนต์ส่วนตัว มีราคาค่ารถที่ต้องนำมาคำนวณเป็นต้นทุนค่าเดินทางด้วย ไม่ใช่ยานพาหนะที่เหมาะสำหรับทุกคน

การเดินทางด้วยรถขนส่งสาธารณะทุกชนิด ไม่ได้มีไว้รองรับสำหรับทุกคน ที่ตั้งของที่พักอาศัย ทำให้ใช้ขนส่งสาธารณะทุกชนิดไม่ได้

รถไฟฟ้าที่กำลังขยายออกไปหลายเส้นทางในกรุงเทพฯ และปริมณฑล แม้จะพร้อมให้บริการสำหรับคนทุกกลุ่มรายได้ แต่คนที่มีรายได้น้อย ไม่สามารถขึ้นรถไฟฟ้าได้ทุกวัน ถ้ามีรายได้ไม่เกินวันละ 400 บาท คงต้องเลือกวิธีการเดินทางด้วยรถเมล์เป็นหลัก

ระบบขนส่งสาธารณะรถไฟฟ้าที่มีอยู่ในเมืองใหญ่ทั่วโลก ส่วนใหญ่มีไว้รองรับสำหรับประชาชนทุกฐานะ ทุกคนมีเงินพอที่จะจ่ายค่าโดยสารได้ แต่ไม่ใช่สำหรับประเทศไทย

ปัจจุบันค่าแรกเข้ารถไฟฟ้าสายต่างๆ จะอยู่ที่ประมาณ 14-16 บาทต่อการเดินทางหนึ่งครั้ง ไม่ว่าจะเดินทางระยะทางแค่ไหนก็ต้องเสียค่าเดินทางขั้นต่ำ 14-16 บาท

คำนวณอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1.23 บาท ต่อกิโลเมตร ต้นทุนค่าเดินทางสูงกว่าใช้รถจักรยานยนต์

ค่าโดยสารการรถไฟฟ้าในประเทศไทย จัดอยู่ในกลุ่มที่ค่าโดยสารแพงที่สุดในโลก ยิ่งนำไปเปรียบเทียบกับอัตราส่วนของรายได้ประชากร จะยิ่งเห็นภาพชัดเจน

ถ้าเดินทางด้วยรถแท็กซี่ ค่าบริการระยะทาง 1 กิโลเมตรแรก = 35.00 บาท, เกินกว่า 1 ก.ม. ถึง 10 ก.ม. = 5.50 บาท ต่อ ก.ม., ระยะทางเกินกว่า 10 ก.ม. – 20 ก.ม. = 6.50 บาท ต่อ ก.ม.

หากเดินทางด้วยรถแท็กซี่ระยะทาง 20 กิโลเมตร จะต้องจ่ายค่าแท็กซี่ 155 บาท หรือประมาณ 7.75 บาท ต่อ กิโลเมตร

การเดินทางด้วยเรือด่วนคลองแสนแสบ มีอัตราเริ่มต้นที่ 8 บาท ค่าโดยสารถึงปลายทางแต่ละจุดแตกต่างกัน คือ 9 บาท, 11 บาท, 13 บาท, 15 บาท, 17 บาท, 19 บาท

สำหรับค่าโดยสารเรือด่วนเจ้าพระยา ธงส้ม 15 บาทตลอดสาย, ธงเหลือง 20 บาท ตลอดสาย, ธงแดง 30 บาท ตลอดสาย

การเดินทางด้วยเรือ ค่าใช้จ่ายไม่สูง คนส่วนใหญ่ยอมรับได้ แต่คนส่วนใหญ่ใช้บริการไม่ได้ เพราะเส้นทางไม่ตรงกับจุดหมายที่ต้องการไป

วินมอเตอร์ไซค์รับจ้างตามกฎหมาย คิดอัตราค่าโดยสารระยะทาง 2 กิโลเมตรแรก ไม่เกิน 25 บาท การเดินทางด้วยวิธีนี้กลายเป็นวิถีชีวิตประจำวันของคนในเมืองจำนวนมาก บ้านที่อยู่ในซอยหรือที่ทำงานที่ไม่อยู่ใกล้รถสาธารณะอื่น ต้องใช้บริการพี่วินด้วยกันทั้งนั้น

นับเฉพาะค่ามอเตอร์ไซค์ อาจต้องจ่ายค่าวินเป็นสัดส่วนมากถึง 15-20% ของผู้ที่มีรายได้ขั้นต่ำ

รถเมล์ซึ่งเป็นรถธรรมดา มีอัตราค่าโดยสารถูกที่สุดในปัจจุบัน คือ 8 บาท, 9.50 บาท, 10 บาท ตลอดสาย

ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ กลายเป็นปัญหาค่าครองชีพของคนทั่วโลก และรวมถึงประเทศไทย

ภาครัฐ สามารถช่วยเหลือประชาชนเรื่องปัญหาค่าใช้จ่ายการเดินทางได้หลายวิธี เช่น ตรึงราคาน้ำมัน ตรึงราคาค่าขนส่งสาธารณะ ลดราคาค่ารถไฟฟ้า สร้างทางเท้าให้เดินได้สะดวกมากขึ้นจะได้พึ่งพามอเตอร์ไซค์รับจ้างน้อยลง ฯลฯ

ทางออกปัญหาค่าครองชีพเรื่องค่าเดินทางสำหรับคนทั่วไป เช่น ใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น ใช้รถยนต์ส่วนตัวน้อยลง หาที่พักอาศัยที่อยู่ใกล้กับสถานที่ทำงานมากขึ้น ฯลฯ

ความหวังที่จะได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐอาจน้อย หรือไม่มีเลย ทุกคนที่เป็นคนเมือง คงต้องปรับสภาพและหาทางออกด้วยตัวเอง……………..

Source 1

Source 2

Source 3

Source 4

Source 5

Leave a Reply