พลิกฟื้นการค้าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกด้วยการบูรณาการเศรษฐกิจระดับภูมิภาค และแนวทางปฏิบัติด้านความยั่งยืน ไปกับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (ABAC) ผู้ส่งมอบข้อเสนอแก่คณะประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค

นับถอยหลังสู่ช่วงครึ่งหลังของปี 2565 สมาชิกของชุมชนเอเชียแปซิฟิกต่างเริ่มกลับมาสูดอากาศหายใจได้คล่องขึ้น แม้ธุรกิจส่วนใหญ่ยังคงฝ่าฟันเพื่อพลิกฟื้นสู่การดำเนินงานตามปกติให้กลับมาดังช่วงก่อนเกิดโรคระบาด แต่ก็สามารถกล่าวได้ว่าเศรษฐกิจในภูมิภาคโดยรวม กำลังค่อยๆ ทยอยฟื้นตัวจากผลกระทบจากโควิด-19 อย่างช้าๆ ทว่ามั่นคง

การระบาดของโควิด-19ได้สร้างความเสียหายร้ายแรงต่อการค้าและการดำเนินธุรกิจในภูมิภาคอย่างไม่ต้องสงสัย สะท้อนจากเศรษฐกิจของเอเชียแปซิฟิกในปัจจุบันที่กำลังต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ รวมทั้งปัญหาด้านความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน อันเนื่องมาจากการหยุดชะงักครั้งใหญ่ของห่วงโซ่อุปทาน คำถามที่สำคัญในเวลานี้ คือ อะไรกันคือตัวแปรที่จะช่วยให้ภาคการค้าและธุรกิจ อันเป็น “เลือดเนื้อ” ของเอเชียแปซิฟิก ซึ่งหล่อเลี้ยงประชากรมากกว่า 4 พันล้านชีวิต สามารถลุกขึ้นยืนและออกวิ่งได้อีกครั้ง?

ฟังเสียงชีพจรแห่งธุรกิจและผู้คน

สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (ABAC) ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 63 คนที่ได้รับการแต่งตั้งจากผู้นำของ 21 เขตเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก คือคณะทำงานที่ทำหน้าที่ในนามภาคธุรกิจของเอเชียแปซิฟิก ในการให้คำแนะนำแก่ผู้นำเขตเศรษฐกิจเพื่อการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและการค้าของภูมิภาคสู่ภาวะปกติอีกครั้ง โดยล่าสุดสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค ในฐานะตัวแทนผู้สะท้อนความต้องการของเหล่าธุรกิจและประชาชนของภูมิภาคได้ส่งมอบข้อเสนอ 8 ประการต่อที่ประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค (APEC Ministers Responsible for Trade Meeting: MRT) เมื่อวันที่ 21-22 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา ด้วยความหวังว่าจะช่วยให้การค้าในภูมิภาคดำเนินไปในทิศทางทางที่ดีขึ้นในอนาคต

ในข้อเสนอดังกล่าว มี 5 ประการที่เกี่ยวกับการเสริมสร้างการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ได้แก่ (1) การสร้างความพร้อมต่อการรับมือกับการระบาดใหญ่ในอนาคต (2) การตระหนักถึงเส้นทางสู่ข้อตกลงการค้าเสรีในเอเชียแปซิฟิก (FTAAP); (3) สนับสนุนองค์การการค้าโลก (WTO)และสนับสนุนระบบการซื้อขายพหุภาคีตามกฎเกณฑ์ที่กำหนด (4) เสริมสร้างการค้าด้านบริการ และ (5) การเปิดพรมแดนอีกครั้งเพื่อการเดินทางที่ปลอดภัยและราบรื่น ขณะที่ 3 ประการสุดท้ายได้มุ่งเน้นไปที่การเสริมสร้างศักยภาพของธุรกิจ ได้แก่ (6) การจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, ความมั่นคงด้านอาหารและพลังงานผ่านการค้า (7) การพัฒนาการกำกับดูแลด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และ (8) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของ MSMEs ในตลาดต่างประเทศ

ในการประชุมครั้งนี้ เหล่ารัฐมนตรีการค้าเอเปคได้หารือบนข้อเสนอและประเด็นสำคัญที่สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค พยายามผลักดัน โดยภายหลังการประชุมได้มีการออกแถลงการณ์ของประธานการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค ซึ่งมีการระบุข้อเสนอจากสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปคไว้ด้วย

ขอบฟ้าใหม่แห่งชุมชนเอเชียแปซิฟิก

แถลงการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นความสอดคล้องระหว่างคณะรัฐมนตรีการค้าเอเปคและสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค ในด้านการผลักดันให้เกิดการบรรลุข้อตกลงการค้าเสรีในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกหรือ FTAAP โดยได้มีการจัดตั้งคณะทำงานซึ่งได้รับมอบหมายหน้าที่ให้พัฒนาแผนงานระยะหลายปี ส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุม และสนับสนุนการเติบโตของภูมิภาค ผ่านการจัดตั้ง ‘Safe Passage Taskforce’ ซึ่งเป็นคณะทำงานชั่วคราวที่ออกแบบมาเพื่อช่วยกำหนดวิธีแก้ปัญหาในการฟื้นฟูการเชื่อมต่อในภูมิภาคผ่านการเดินทางที่ปลอดภัยและราบรื่น

นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีการค้าเอเปคยังตอบสนองต่อความต้องการต่อแนวทางการปฏิบัติด้านความยั่งยืนในระดับภูมิภาคที่ดีขึ้น ซึ่งจะเอื้อต่อความสามารถของผู้ประกอบธุรกิจในภูมิภาคในระยะยาว โดยส่วนหนึ่งของแผนการดำเนินงานที่จะเกิดขึ้น คือการผลักดันให้เกิดการปรับใช้โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ Bio-Circular-Green (BCG) Economy อันเป็นแนวทางสู่การฟื้นตัวทางการค้าและธุรกิจจากโควิด-19 อย่างครอบคลุม สมดุล และยั่งยืน รวมถึงการบรรลุเป้าหมายด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวอย่างยืดหยุ่น ด้านการดูแลสิ่งแวดล้อม และด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การนำเสนออันบรรลุผล

ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ผู้แทนสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค 2022 ไทย และ ประธาน APEC CEO Summit 2022กล่าวถึงผลการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปคว่า “ในช่วงเวลาที่ราคาพลังงานและราคาอาหารสูงขึ้นนี้เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งกระบวนการในการบรรลุความเป็นกลางของคาร์บอน และกระบวนการด้านระบบอาหารที่ยั่งยืน นอกจากนี้เรายังเรียกร้องให้มีมาตรการทางการค้าที่จะสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่การค้าสินค้าและบริการที่ผลิตคาร์บอนต่ำ, การใช้พลังงานที่ยั่งยืนมากขึ้น ตลอดจนการพัฒนากรอบการทำงานสำหรับการค้าและการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีที่ปล่อยมลพิษต่ำ”

ในด้านการส่งเสริมสภาพแวดล้อมทางการค้าสู่สภาวะปราศจากข้อจำกัด นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ ผู้แทนสำรอง สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค 2022 ไทย กล่าวว่า “เรามีความยินดีที่ปีนี้มีการให้ความสำคัญกับวาระของ FTAAP โดยระหว่างที่เราดำเนินการเพื่อบรรลุผลนี้ FTAAP จะต้องตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมทางธุรกิจระดับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป เอเปคควรจัดลำดับความสำคัญของการดำเนินการ ซึ่งจะมีความหมายอย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อภาคธุรกิจ สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจ คาดว่าเอเปคจะตกลงในการพัฒนาแผนงานหลายปีจากนี้บน 5 ความสำคัญทางธุรกิจ อันได้แก่ การทำให้เป็นดิจิทัล, การหลอมรวมเข้าด้วยกัน, ความยั่งยืน, การค้า-การลงทุน และการตอบสนองทางการค้าต่อการระบาดใหญ่”

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค 2022 กล่าวว่า “ในฐานะผู้อยู่แถวหน้าในการรับมือความท้าทายจากผลกระทบของโรคระบาดและเหตุการณ์ต่างๆ ที่ก่อให้เกิดการหยุดชะงักของตลาดและห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก แรงกดดันด้านเงินเฟ้อ และการคุกคามความมั่นคงด้านอาหาร เรามองเห็นความรับผิดชอบในการเรียกร้องให้มีการดำเนินการที่เด็ดขาดและรอบคอบ ทั้งเพื่อทำให้เกิดเครือข่ายการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของภูมิภาคที่แข็งแกร่งและลึกซึ้งยิ่งขึ้น และศักยภาพของธุรกิจทุกขนาดที่แข็งแกร่งพร้อมที่จะเติบโตอย่างมีพลวัตและยั่งยืน…

…ด้วยความมุ่งมั่นต่อภาคธุรกิจและผู้คนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เราซึ่งเป็นสมาชิกของสภาที่ปรึกษาธุรกิจเอเปค จะยังคงทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้นำทางเศรษฐกิจ เพื่อช่วยกำหนดรูปแบบการค้าและระบบนิเวศทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเพื่ออนาคตที่ดีกว่าต่อไป” ประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค2022 กล่าวสรุป

สู่อนาคตที่สดใสยิ่งกว่า

สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (ABAC) มีการจัดประชุมปีละ 4 ครั้ง เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองทางธุรกิจและหารือประเด็นทางเศรษฐกิจที่สำคัญ อันจะนำไปสู่บทสรุปข้อเสนอที่ดีที่สุดที่จะนำเสนอต่อผู้นำเศรษฐกิจเอเปคในเดือนพฤศจิกายน 2565 นี้ (APEC Meeting) โดยในปี 2565 คณะทำงานได้จัดการประชุมไปแล้ว 2 ครั้ง คือครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์ที่สิงคโปร์ และครั้งที่ 2 ในเดือนเมษายนที่แคนาดา โดยในวันที่ 26-29 กรกฎาคม 2565 คณะทำงานจะรวมตัวกันเป็นครั้ง 3 ที่เวียดนาม เพื่อหารือและติดตามความคืบหน้าที่สำคัญต่อไป ทั้งนี้ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปคครั้งที่ 4 อันเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายประจำปี ระหว่างวันที่ 13-16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 อีกทั้งยังเป็นเจ้าภาพงาน APEC CEO Summit 2022 ในวันที่ 16-18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 ที่กำลังจะมาถึงนี้ด้วย

ความคืบหน้าและการส่งมอบข้อเสนอระหว่างสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปคและรัฐมนตรีการค้าเอเปคในการหารือร่วมกันครั้งล่าสุดนั้นถือเป็นสัญญาณที่ดี แม้ในเส้นทางข้างหน้าจะยังคงเปี่ยมไปด้วยความซับซ้อนและความท้าทาย สิ่งสำคัญคือความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจและเครือข่ายการค้าของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของเราจะฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องและกลับสู่สภาวะปกติได้อีกครั้ง โดยกุญแจสู่ความสำเร็จดังกล่าวคือความร่วมมือระหว่างภาคส่วนที่เต็มไปด้วยความมุ่งมั่นและสอดประสานกันอย่างครอบคลุมเพื่อการบรรลุเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ที่สำคัญต่างๆ ในวันนี้ภาครัฐและภาคเอกชนของภูมิภาคกำลังจับมือทำงานร่วมกันอย่างแข็งขัน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในก้าวที่สำคัญสู่การพัฒนาที่ยิ่งใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้น

เกี่ยวกับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค
สมาชิกในเขตเศรษฐกิจเอเปค ออสเตรเลีย บรูไนดารุสซาลาม แคนาดา ชิลี จีน ฮ่องกง จีน อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ ไชนีสไทเป ประเทศไทย สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม


สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (ABAC) 
ก่อตั้งขึ้นโดยผู้นำเอเปคในปี 2538 เพื่อเป็นกระบอกเสียงหลักของธุรกิจในกลุ่มเอเปค แต่ละประเทศเศรษฐกิจมีสมาชิก 3 คนที่ได้รับการแต่งตั้งจากผู้นำของแต่ละประเทศ มีการประชุมร่วมกันปีละสี่ครั้งเพื่อเตรียมพร้อมในการนำเสนอข้อเสนอต่อผู้นำในการเจรจาซึ่งเป็นงานสำคัญในการประชุมผู้นำประจำปี


ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพการประชุม APEC Business Advisory Council 2022 (ABAC 2022) กำลังดำเนินโครงการงานภายใต้หัวข้อ “Embrace. Engage. Enable” เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายในความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และมั่นใจได้ว่าจะเป็นประโยชน์ต่อทุกคน


คุณสุพันธุ์ มงคลสุธี, ประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค 2022 และ Rachel Taulelei ประธานร่วมจากนิวซีแลนด์ และ TBC จากสหรัฐอเมริกา รวมถึง 5 คณะทำงานเฉพาะ โดยมีรายนามดังนี้ Lam Yi Young ประธานคณะทำงาน Regional Economic Integration Working Group (REIWG); Janet De Silva, ประธานคณะทำงาน Digital Working Group (DWG); Dato Rohana Mahmood, ประธานคณะทำงาน MSME and Inclusiveness Working Group (MSMEWG); Ning Gaoning, ประธานคณะทำงาน Sustainability Working Group (SWG); และ Hiroshi Nakaso, ประธานคณะทำงาน Finance and Economics Working Group (FEWG).

.

Posted in PR

Leave a Reply