รัฐบาลจีนได้วางแผนไว้ตั้งแต่ปี 2014 เพื่อทดแทนแรงงานจีนหลายล้านคนด้วยระบบออโตเมชั่นและหุ่นยนต์ วันนี้ในปี 2019 มีความคืบหน้าของการเปลี่ยนแปลงไปมาก โรงงานใหญ่ๆได้ปรับตัวแล้ว เหลือแต่โรงงานขนาดเล็กที่ยังปรับตัวช้าและยังใช้แรงงานกันมาก
จีนเป็นโรงงานของโลกตัวจริง เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดของสินค้าเกือบทุกชนิด นับตั้งแต่เสื้อผ้าจนถึงเครื่องใช้ทางอีเล็กโทรนิกส์ แต่ส่วนใหญ่จะพึ่งพิงอยู่กับสินค้าที่มีต้นทุนต่ำ ใช้แรงงานฝีมือขั้นต่ำ แต่แรงงานมีการปรับค่าแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากไม่มีมาตรการอะไรที่เป็นรูปธรรมชัดเจนจะกลายเป็นปัญหาระยะยาว ทำให้โรงงานต่างๆหมดความสามารถในการแข่งขัน
รัฐบาลจีนมีเป้าหมายชัดเจนที่ต้องการเห็นโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศจีนมีการปรับเปลี่ยนตัวเองใช้เทคโนโลยีทันสมัยที่มีความก้าวหน้า
ในปัจจุบัน มีแรงงานจีนทั่วประเทศที่ทำงานอยู่ในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆประมาณ 100 ล้านคน
เริ่มตั้งแต่ปี 2014 รัฐบาลจีนได้เริ่มแคมเปญเพื่อหาทางอัพเกรดหรือยกระดับโรงงานในประเทศจีน โดยมีเป้าหมายรวมด้วยการค่อยๆแทนที่การใช้แรงงานคนด้วยหุ่นยนต์ เริ่มจากการเปลี่ยนแปลงในเขตอุตสาหกรรมหนักขนาดใหญ่เหมือนอย่างที่อยู่ในมณฑล เจียงซู เจ้อเจียง และกวางตุ้ง
รัฐบาลท้องถิ่นในเมืองตงกวนใจกลางมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมและการส่งออกของจีนได้จัดสรรงบประมาณมากถึง 385 ล้านหยวน หรือ 56.8 ล้านดอลลาร์ เพื่อช่วยเพิ่มระบบออโตเมชั่นในโรงงานในปี 2018
เมืองตงกวนได้ตัดแรงงานคน 280,000 คน ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา แล้วให้หุ่นยนต์ 91,000 ตัวมาทำงานแทน
สายการผลิตในโรงงานแต่ละแห่งที่เคยใช้คนนับร้อยนับพันช่วยกันทำงานร่วมกับเครื่องจักรวันละ 10 ชั่วโมง แต่วันนี้ในโรงงานเหล่านั้นใช้คนเพียง 2 คนช่วยดูแลแต่ละสายการผลิต
Foxconn บริษัทที่ไต้หวันเป็นเจ้าของ ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิต iPhone ครึ่งหนึ่งของโลกและมีฐานการผลิตอยู่ในประเทศจีน วางแผนให้มีระบบการผลิตแบบออโตเมชั่นเต็มรูปแบบให้ได้ 30% ของการผลิตภายในปี 2020
นับตั้งแต่ปี 2012 – 2016 ฟ็อกซ์คอนน์ ได้ลดคนงานไปแล้วมากกว่า 410,000 คน โดยเอาหุ่นยนต์หลายหมื่นตัวมาทำงานแทน
การสำรวจของ China Development Research Foundation ในเดือนกันยายน ปี 2018 รายงานว่า มีบริษัทตัดลดคนงานลงระหว่าง 30-40% ในช่วงปี 2015 – 2017 โดยมีการนำระบบออโตเมชั่นมาใช้แทน
แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ใช่แค่แรงงานไร้ฝีมือที่มีปัญหาเท่านั้น แรงงานนั่งโต๊ะก็เริ่มมีปัญหาแล้วเช่นกัน ในการสำรวจที่รายงานโดยรัฐบาลท้องถิ่นของหางโจวพบว่า มี 37 บริษัทได้ยกเลิกงาน 800 ตำแหน่งหลังจากนำ AI มาใช้แทนคน พนักงาน 539 คนถูกย้ายงานไปทำอย่างอื่น และต้องเลิกจ้างพนักงาน 261 คน
โรงงานขนาดใหญ่มีเงินทุนที่จะเริ่มต้นในเทคโนโลยีใหม่ๆได้ง่ายและรวดเร็วกว่า มีงานมากกว่า วางระบบได้ง่ายกว่า การเอาหุ่นยนต์มาใช้แม้จะต้องลงทุนมากแต่ก็มองเห็นความแตกต่างได้ชัดเจนกว่า
ในขณะที่โรงงานขนาดเล็ก การปรับเปลี่ยนเอาระบบออโตเมชั่นหรือหุ่นยนต์มาใช้โดยเร็วอาจไม่ง่ายนัก อาจเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า
ในระยะยาวแล้ว โรงงานขนาดใหญ่ที่ทันสมัยเป็นออโตเมชั่นมากกว่าจะได้เปรียบเรื่องต้นทุนที่ต่ำกว่า และอาจทำให้โรงงานขนาดเล็กไม่มีความสามารถในการแข่งขัน
ในรายงานข่าวของ South China Morning Post ซึ่งมีการสัมภาษณ์แรงงานจีนหลายคน เริ่มเห็นความตึงเครียดในอนาคตที่จะมีการตกงานกันมาก
คนจีนบางคนที่ยังอยากทำงานในโรงงานต่อไป เริ่มปรับตัวไปศึกษาเป็นผู้ควบคุมเครื่องในระบบออโตเมชั่นและหุ่นยนต์ แม้จะมีงานลดลงแต่ก็ยังมีงานให้ทำอยู่
การปรับตัวเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้แรงงานยุคใหม่อยู่รอดได้ และไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นในที่ใดที่หนึ่งเท่านั้น แต่มันจะเกิดขึ้นทั่วโลก
.
https://www.technologyreview.com/s/544201/china-wants-to-replace-millions-of-workers-with-robots/
.