ใช้เทคโนโลยียุคใหม่ตีความภาษายุคเก่า AIแปลภาษาโบราณ1400ปีก่อนคริสตกาล

Machine Learning หรือ AI ถูกนำมาใช้เพื่อช่วยแปลภาษาโบราณที่สูญหายไปนาน แปลได้แบบออโตเมติก มีบางภาษาที่ไม่เคยถูกถอดรหัสได้มาก่อน วันนี้มีเทคโนโลยีสมัยใหม่ช่วยตีความให้ได้

ในปี 1886 หรือ 133 ปีที่ผ่านมา Arthur Evans นักโบราณคดีชาวอังกฤษได้ข่าวหินโบราณที่มีชุดศิลาจารึกแปลกๆเป็นภาษาที่ไม่มีใครรู้จัก เลยออกสำรวจต้นตอและพบว่ามาจากเกาะในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนชื่อว่า Crete มีการค้นพบแผ่นศิลาจารึกที่ดูเหมือนเป็นภาษาเดียวกันจำนวนมาก และตรวจสอบพบว่ามาจาก 1400 ปีก่อนคริสตกาล ถือว่าเป็นหนึ่งในภาษาเขียนที่เก่าแก่ที่สุดของโลกที่มีการค้นพบได้

หลักฐานที่ อาเธอร์ อีแวนส์ ค้นพบ สรุปได้ว่ามีศิลาจารึกเป็นชุดของ 2 ภาษาที่แตกต่างกัน คือ

-Liner A มีอายุระหว่าง 1400 – 1800 ปีก่อนคริสตกาล

-Liner B มีอายุประมาณ 1400 ปีก่อนคริสตกาล

ศิลาจารึกทั้งสองชุดอยู่ในช่วงที่เกาะถูกครอบครองโดย Mycenaeans หรือไมซีนี ซึ่งเป็นยุคสำริดสมัยกรีซรุ่งเรือง

ศิลาจารึกที่ค้นพบได้ทั้งหมดเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ไม่มีนักโบราณคดีหรือนักภาษาศาสตร์ที่ไหนสามารถตีความได้ แต่ในปี 1953 หรือผ่านมาเกือบ 70 ปี มีนักภาษาศาสตร์สมัครเล่นชื่อ Michael Ventris ถอดรหัสภาษาของ Liner B ได้ ชื่อต่างๆที่ปรากฏอยู่ในศิลาจารึกเป็นชื่อของสถานที่บนเกาะ Crete พอเปรียบเทียบกับภาษากรีกโบราณทำให้ตีความได้มากขึ้น แต่ยังไม่มีความสมบูรณ์

สำหรับ Liner A ที่เก่าแก่กว่ามาก ยังเป็นเรื่องท้าทายและเป็นปัญหาในการตีความของนักภาษาศาสตร์มาถึงปัจจุบัน

นับตั้งแต่มี Machine Learning หรือ AI มาใช้ในงานช่วยตีความภาษาโบราณ ก็เลยกลายเป็นการปฏิวัติครั้งใหญ่ในวงการภาษาของโลก ยิ่งมีข้อมูลมากก็ยิ่งทำงานง่ายขึ้น และตีความภาษาที่ไม่สามารถถอดระหัสมานานได้ถูกต้องมากขึ้น

AI วิเคราะห์ได้ว่า คำแต่ละคำมีความสัมพันธ์บางอย่างที่เป็นรูปแบบเดียวกัน เหมือนหลักการของภาษาต่างๆที่พบเห็นในปัจจุบัน แม้ว่าในแต่ละภาษาอาจมีรูปแบบแตกต่างกัน แต่ยังพอมีรูปแบบให้ยึดถือได้

การหาความหมายของภาษาโดย AI ใช้หลักการคำนวณบางอย่างมาช่วยวิเคราะห์ด้วย ยกตัวอย่าง เช่น king – man + woman = queen หรือ พระราชาที่ไม่ใช่ผู้ชายแต่เป็นผู้หญิง หมายถึง พระราชินี

ศิลาจารึกในกลุ่ม Linear B วันนี้ใช้เครื่องแปลภาษาโบราณที่เอา Machine Learning หรือ AI มาช่วยทำงานโดยใช้วิธีเปรียบเทียบกับภาษากรีกโบราณ ทำให้สามารถแปลความหมายได้ถูกต้องประมาณ 67.3% และมีแนวโน้มที่จะพัฒนาให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ส่วนศิลาจารึกในกลุ่ม Linear A ที่เก่าแก่กว่าอีกหลายร้อยปี วันนี้ยังไม่มีใครถอดรหัสภาษาโบราณนี้ได้สำเร็จ แม้จะให้เครื่องช่วยวิเคราะห์เปรียบเทียบกับภาษากรีกโบราณด้วยวิธีใดก็ไม่สำเร็จ ตอนนี้กำลังมีความพยายามด้วยวิธีใหม่ อาจใช้วิธีการเปรียบเทียบกับทุกภาษาที่มีอยู่บนโลก แล้วหาทางถอดรหัสออกมา AI คงวิเคราะห์เจออะไรบางอย่างแน่ แต่ยังไม่มีรายงานว่าผลความคืบหน้าเป็นอย่างไร

การตีความภาษายุคโบราณได้ดีขึ้นด้วยเทคโนโลยียุคใหม่ อาจทำให้มีการชำระประวัติศาสตร์โบราณของโลกครั้งใหญ่ เพราะสามารถเข้าใจภาษาเขียนโบราณต่างๆได้ดีขึ้น

ถึงแม้จะเข้าใจภาษาเขียนโบราณได้ดีขึ้น แต่อาจมีบางเรื่องที่ไม่ใช่ความจริง เพราะประวัติศาสตร์เขียนโดยผู้ชนะ ความจริงเป็นอย่างไรไม่มีใครรู้แน่ชัด

ลองนึกถึงการเมืองไทยที่เป็นอยู่ในปัจจุบันก็ได้ ลองถามพวกเราทุกคนในสังคมไทยวันนี้ก็ได้ว่า… สิ่งที่เราได้พบเห็นหน้าฉากจากสื่อที่มีการบันทึกไว้ต่อสาธารณะชน มันแตกต่างกับความเป็นจริงขนาดไหน!?!

ผู้ชนะเป็นผู้บันทึกประวัติศาสตร์ ผู้ชนะจะบิดเบือนความจริงให้ตัวเองดูดีเสมอ…….

https://www.technologyreview.com/s/613899/machine-learning-has-been-used-to-automatically-translate-long-lost-languages/

 

Posted in AI

Leave a Reply