กระจกอัจฉริยะ ทำงานได้เหมือน AI ไม่มีเซนเซอร์ ไม่มีแผงวงจร ไม่ใช้ไฟฟ้า แต่บอกได้ว่าเป็น ตัวเลข หรือ ภาพ อะไร อนาคต เป็นระบบเข้ารหัสจดจำใบหน้า

เทคโนโลยี AI ที่ช่วยจดจำใบหน้าในสมาร์ทโฟนยุคใหม่ ในอนาคตอาจถูกแทนที่ด้วยกระจกเล็กๆชิ้นเดียว แต่ทำงานได้ไม่ต่างกัน

วิศวกรจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิ่น-เมดิสัน เผยแพร่งานทดลองในวรสาร Photonics Research ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2019

ภาพที่เห็นทั้ง 2 ภาพ เป็นผลการทดลองเพื่อพิสูจน์ยืนยันว่าเป็นแนวคิดที่ใช้ได้จริง

เมื่อเขียนหมายเลข 2 ไว้ด้านหนึ่งของกระจก แสงที่เดินทางผ่านกระจกไปอีกด้านหนึ่งที่มีหมายเลข 1, 2, 3, 4, 5, 6, 7, 8, 9 มันสามารถชี้ไปที่หมายเลข 2

เมื่อเปลี่ยนเป็นการเขียนหมายเลข 8 แสงที่ผ่านไปถึงกระจกอีกด้าน มันชี้ไปที่หมายเลข 8

ไม่มีเซนเซอร์อะไรเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ใช้แผงวงจรไฟฟ้า ไม่ได้ใช้พลังงานไฟฟ้าอะไร ทั้งหมดที่มีอยู่ คือ กระจกเล็กๆแผ่นเดียว

กระจกหรือแก้วที่ใช้ ทำหน้าที่เป็น เลนส์ เซนเซอร์ และเครือข่ายประสาท เหมือนที่มีอยู่ในระบบ AI ทุกอย่างใส่อยู่ในกระจกแผ่นเดียว

แก้วกระจกดูโปร่งแสงเหมือนกระจกทั่วไป ถูกหลอมประสานโดยกำหนดให้ข้างในมีฟองสบู่เล็กๆ จัดวางตำแหน่งไว้อย่างมีกลยุทธ์ตามรูปแบบที่วางไว้ มีเศษอะไรหลายอย่างเหมือนสิ่งสกปรกหรือกราฟิน ฝังอยู่ในแก้ว

เมื่อมีภาพอยู่ด้านหน้าของกระจก แสงที่กระทบภาพและเดินทางผ่านกระจกจะมีการหักเหของแสงไปตามโครงสร้างภายใน และมันสามารถแยกความแตกต่างระหว่างภาพต่างๆได้

มันเป็นการจำลองรูปแบบการคิดคำนวณของ Artificial Intelligence ในลักษณะของ Machine Learning แต่ไม่มีความซับซ้อน

ในการทดลองครั้งนี้ ทำกับตัวเลขที่มีตัวเลือกที่แยกความแตกต่างเพียง 9 แบบ แต่ต่อไปในอนาคตจะพัฒนาให้มันสามารถทำงานได้มากขึ้น โดยวางเป้าหมายว่าจะให้มันสามารถทำงานเหมือน AI ที่มีระบบจดจำใบหน้าของคนได้

กระจกนี้ น่าจะใช้เป็น Biometric Lock ที่จดจำใบหน้าของคนๆหนึ่งได้ เมื่อสร้างเสร็จแล้วก็ใช้ได้ตลอดไป ไม่ต้องใช้พลังงานอะไรมาช่วยทำงาน ไม่มีอินเตอร์เน็ตเข้ามาเกี่ยวข้อง หมายความว่ามันสามารถใช้เป็นระบบรักษาความปลอดภัยป้องกันการเข้าถึงได้ ใช้ไปนานนับพันปีก็ยังทำงานได้อยู่

ต่อไปในอนาคต Smart Glass อาจถูกพัฒนาไปใช้เป็นหน้าจอมือถือ กำหนดบุคคลที่สามารถเข้าใช้มือถือ

มันสามารถพัฒนาเป็นระบบรักษาความปลอดภัยส่วนตัวในโลกไซเบอร์ ไม่ต้องใช้พลังงาน ไม่มีแบตเตอรี่หรือทรัพยากรอะไรที่ยุ่งยากในระบบการทำงาน

มีการเปรียบเทียบว่ามันเป็น “Analog Artificial Neural Computing” หรือ “ระบบคำนวณแบบโครงข่ายประสาทเทียมอนาล็อก”

วิธีการง่ายๆแบบนี้ สามารถพัฒนาเอาไปประยุกต์ใช้กับงานอะไรได้อีกหลายอย่าง…

Simple ‘smart’ glass reveals the future of artificial vision

 

Posted in AI

Leave a Reply