ต้นเดือนตุลาคม 2019 Toyota Research Institute ซึ่งสนับสนุนโดย โตโยต้า ผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของโลก มีรายงานเผยแพร่การวิจัยและพัฒนาที่ก้าวหน้าอย่างมากของเทคโนโลยีหุ่นยนต์
สิ่งที่นำเสนอดูดีมาก เป็นการพัฒนาหุ่นยนต์มาช่วยทำงานในบ้าน เช่น ทำความสะอาดบ้าน ล้างถ้วยชาม ช่วยหยิบอาหารจากตู้เย็น เอาของไปเก็บในตู้ ฯลฯ
มันเป็นประโยชน์โดยตรงสำหรับยุคสังคมสูงวัย
หุ่นยนต์จะช่วยเพิ่มอำนาจให้ผู้อาวุโสที่อยู่ในช่วงโรยรา ช่วยตัวเองได้ลำบาก ทำให้คุณภาพชีวิตในยามแก่เฒ่ามีคุณค่ามากขึ้น
บ้านแต่ละหลังที่มีความเป็นเอกลักษณ์แตกต่างกัน หุ่นยนต์สามารถปรับตัวทำงานให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมหรือสถานะการณ์ที่แตกต่างกันได้
หุ่นยนต์โตโยต้าใช้เทคโนโลยีสารพัดอย่าง ทำให้มันก้าวหน้าอย่างน่ามหัศจรรย์ แต่เมื่อพิจารณาหลักการทำงานแล้ว มันดูสมเหตุผล และมีตรรกะน่าเชื่อถือมาก
เทคโนโลยีสำคัญที่อยู่เบื้องหลังหุ่นยนต์พันธุ์ใหม่ตัวนี้ คือ VR, Simulation, Cloud, AI Deep Learning, Voice Recognition
สิ่งที่น่าทึ่งที่สุด คือ การเรียนรู้การทำงานของหุ่นยนต์
ถ้าเป็นหุ่นยนต์แบบดั้งเดิมที่เห็นกันทั่วไปในโรงงาน มันทำงานตามคำสั่งที่มีการโปรแกรมไว้ล่วงหน้า แต่หุ่นยนต์โตโยต้าสามารถเรียนรู้โดยไม่ต้องมีโค้ดคำสั่งงานที่ชี้เฉพาะเจาะจง
มันเรียนรู้จากการจำสิ่งที่มันเคยได้รับการสอนจากคน และพิจารณาหาแนวทางโต้ตอบร่วมกับเงื่อนไขที่แตกต่างกันในแต่ละเหตุการณ์ เอาข้อมูลที่เก็บไว้เป็นประสบการณ์เดิม มาใช้ประกอบการตัดสินใจ
ไม่มีความจำเป็นต้องเรียนรู้ซ้ำๆ หลายหน แค่ครั้งเดียวก็พอ
คนเริ่มสอนหุ่นยนต์โดยใช้ภาพจำลองแบบ Simulation ที่คนมองผ่าน VR ซึ่งเป็นความจริงเสมือน ในรูปแบบ 3D ทำตัวอย่างการทำงานให้หุ่นยนต์ได้เรียนรู้ มันเป็นภาพเดียวกับที่หุ่นยนต์เห็น หรือรับรู้ มันสามารถเรียนรู้ ตอบสนองการทำงานได้ถูกต้องแม่นยำขึ้น เลียนแบบหรือประยุกต์ไปใช้ได้ง่ายขึ้น
เวลาที่มันสงสัย มันสามารถสอบถามมนุษย์เพื่อทำตามคำสั่งที่ชัดเจนของมนุษย์ได้
และที่น่าอัศจรรย์อีกอย่าง คือ สิ่งที่หุ่นยนต์โตโยต้าเรียนรู้จากประสบการณ์ครั้งหนึ่ง มันสามารถส่งต่อความรู้ไปให้หุ่นยนต์โตโยต้าทุกตัวผ่านทาง Cloud
Deep Learning กลายเป็น Fleet Learning ที่ส่งต่อแบ่งปันข้อมูลให้หุ่นยนต์ทุกตัว กลายเป็นหุ่นยนต์ที่ฉลาดขึ้นเท่าๆกันทั้งกองทัพ
ทีมนักวิจัยของ Toyota Research Institute พูดให้ฟังถึงการพัฒนาที่สามารถจะเอาไปใช้ต่อเนื่องที่เป็นด้านบวกหลายอย่าง
นอกจากช่วยทำงานในบ้าน ยังสามารถพัฒนาเอาหุ่นยนต์แบบนี้ไปใช้ในสภาพแวดล้อมอื่นๆ ได้อีก เช่น งานในโรงงาน ระบบการขนส่ง
มันมี กล้อง ทำหน้าที่เหมือนตามนุษย์ ที่ใช้ศึกษาเรียนรู้จากสิ่งที่เห็น แต่หุ่นยนต์มีข้อมูลเก่าที่อยู่ในคลังสมองหรือคลาวด์มากมาย ใช้กล้องเหมือนตาทำหน้าที่ประมวลข้อมูลรอบข้าง เพื่อการตอบโต้ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในช่วงเวลานั้น
ไมค์ที่ติดอยู่กับหุ่นยนต์ ทำหน้าที่เหมือนหูที่คอยรับฟังคำสั่ง ตีความสถานการณ์ตามข้อมูลเสียงที่เข้ามา หรือรวบรวมข้อมูลเสียงมาเก็บไว้เป็นประสบการเรียนรู้ที่เพิ่มขึ้น
ลำโพง ทำหน้าที่เหมือนปากมนุษย์ที่คอยสื่อสารกับผู้คนรอบข้าง
คลาวด์คอมพิวติ้งช่วยส่งต่อข้อมูลที่หุ่นยนต์แต่ละตัวได้เรียนรู้ แล้วเอาไปแบ่งปันกันอย่างทั่วถึงทันที เวลาผ่านไปนานวันขึ้นมันก็จะยิ่งฉลาดขึ้นมาก และฉลาดเท่าๆกัน ทุกๆตัว ซึ่งจะต้องฉลาดกว่ามนุษย์แน่ๆ
อดคิดไม่ได้จริงๆว่ามันสามารถพัฒนาไปได้อีกไกลแค่ไหน?
จะไปไกลแบบหนังคนเหล็ก หรือเป็นอย่างที่ผู้คนที่อยู่ทีม อีลอน มัสก์ กังวลกันหรือเปล่า?!?!?
Toyota Research Institute teaches mobile manipulator with VR, simulation
https://www.tri.global/news/tri-teaching-robots-to-help-people-in-their-homes-2019-10-3
Click to access 1910.00127.pdf
.