ดาวอังคาร แผนสำรองสำหรับมนุษยชาติ โลกใหม่ที่น่าตื่นเต้นและสวยงามในอนาคต ปกครองกันเองแบบ Direct Democracy

ในระบบสุริยะจักรวาล โลกเป็นดาวเคราะห์ลำดับที่ 3 ซึ่งหมุนรอบดวงอาทิตย์ และดาวอังคารอยู่ลำดับที่ 4 มีชื่อเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า Red Planet หรือ ดาวแดง เหตุที่มีสีแดงเพราะมีออกไซด์ของเหล็กบนพื้นผิวอยู่มากมาย ทำให้มีสีออกแดงเรื่อ เราสามารถมองเห็นดาวอังคารด้วยตาเปล่าจากโลก

ถ้าเปรียบเทียบกับดาวดวงอื่นในระบบสุริยะจักรวาล ดาวอังคารมีโอกาสเป็นไปได้มากที่มนุษย์จะไปอยู่อาศัยได้

มีนักวิทยาศาสตร์และคนดังหลายคน เช่น สตีเฟน ฮอว์คิง เจฟฟ์ เบโซส อีลอน มัสต์ มีความเชื่อว่าโลกกำลังอยู่ในภาวะอันตรายและอาจล่มสลายในอนาคต อันตรายที่อาจเกิดขึ้น เช่น สงครามนิวเคลียร์ ประชากรล้นโลกทรัพยากรไม่พอใช้ พลังงานขาดแคลน การฆ่าชีวิตมนุษย์จากเชื้อโรคต่างๆ ภัยจากหุ่นยนต์เอไอที่จะทำลายล้างมนุษย์ อุกาบาตรที่จะพุ่งชนโลก การบุกรุกของมนุษย์ต่างดาว ฯลฯ

แผนสำรองโดยใช้ดาวอังคารเป็นถิ่นที่อยู่ใหม่ของมนุษย์นอกเหนือจากโลก เป็นเรื่องที่เป็นไปได้มากที่สุด

การเดินทางด้วยจรวดจากโลกไปสำรวจดาวอังคารไม่ใช่เรื่องใหม่ โครงการอวกาศของหลายประเทศ ทำกันมานานกว่าห้าสิบปีแล้ว นับถึงวันนี้เคยมียานไปจอดบนพื้นผิวดาวอังคารได้สำเร็จ 7 ครั้ง ใช้ยานและหุ่นยนต์ลงไปสำรวจ แต่ยังไม่เคยมีมนุษย์คนไหนมีโอกาสลงไปเหยียบบนดาวอังคารจริงๆ

ผู้ที่มุ่งมั่นมากที่สุดที่จะพามนุษย์ไปตั้งรกรากบนดาวอังคารและมีแผนวางไว้อย่างชัดเจน คือ อีลอน มัสต์ ซีอีโอ SpaceX ซึ่งมีหลายโครงการที่กำลังร่วมมือกับ Nasa  โดยตั้งเป้าหมายจะพาคนไปดาวอังคารให้ได้ภายในปี 2024

ด่านแรกที่เป็นอุปสรรคสำคัญ คือ ต้นทุนค่าใช้จ่ายในการเดินทาง มันต้องอยู่ในระดับที่คนจำนวนมากสามารถจ่ายได้ และวันนี้ทางสเปซเอ็กซ์ของ อีลอน มัสต์ และบลูออริจินของเจฟฟ์ เบโซส ก็ประสบความสำเร็จเรื่องแรกที่สามารถเอาจรวดใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ได้ ทำให้ลดค่าใช้จ่ายได้อย่างมหาศาล

อีลอน มัสต์ มีแผนจะพาคนจากโลก 1 ล้านคนไปตั้งรกรากบนดาวอังคาร โดยตัวเขาเองก็ตั้งใจจะไปอยู่และตายบนดาวอังคาร

อุณหภูมิเฉลี่ยบนดาวอังคาร คือ -63 องศาเซลเซียส มนุษย์กลุ่มแรกๆที่เป็นผู้บุกเบิกในการไปตั้งรกรากบนดาวอังคารต้องเป็นพวกหัวแข็งรักการผจญภัย มีอุปสรรคมากมายทั้งที่พอคาคคะเนได้และไม่รู้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นอีกมากมาย

คนกลุ่มแรกที่ไปอยู่บนดาวอังคาร ต้องอยู่ในโดมที่มีการปรับสภาพอากาศภายในให้มีอากาศและอุณหภูมิที่มนุษย์สามารถอยู่ข้างในได้

ในระยะยาวแล้ว จะมีความพยายามปรับสภาพแวดล้อม ทำให้พืชและสิ่งมีชีวิตต่างๆสามารถอยู่อาศัยและเติบโตบนพื้นผิวดาวอังคารภายนอกโดมได้ด้วย

ในปัจจุบันมีแนวทางในปรับสภาพอากาศบนดาวอังคารอยู่ 5 วิธี คือ..

1. สร้างชั้นบรรยากาศให้หนาขึ้น ด้วยการเอาก๊าซแอมโมเนียจากระบบสุริยะชั้นนอกมาเติม ทำให้อากาศอุ่นขึ้น ต่อไปอาจมีการปรับสภาพกลายเป็นอากาศที่มนุษย์หายใจได้

2. ใช้วัตถุสีดำปกคลุมดาวอังคารเพื่อดูดความร้อนจากดวงอาทิตย์ อาจใช้สาหร่ายสีเข้มที่ทนต่อสภาพอากาศบนดาวอังคาร สีดำช่วยทำให้ดูดความร้อนจากดวงอาทิตย์ได้มากขึ้น

3. สร้างก๊าซเรือนกระจกแบบรุนแรง ใช้สารประกอบประเภทฟลูออรีนซึ่งสามารถสร้างสภาวะเรือนกระจกได้รุนแรงกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นับพันเท่า เพื่อทำให้สภาวะอากาศบนดาวอังคารมีเสถียรภาพในระยะยาว

4. ใช้กระจกสะท้อนแสงจากดวงอาทิตย์ ทำให้พื้นผิวบนดาวอังคารอุ่นขึ้น ความร้อนช่วยละลายน้ำแข็งแห้งให้กลายเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นเรือนกระจกที่ทำให้ดาวอังคารอุ่นขึ้นได้อีก กระจกดังกล่าวจะโคจรอยู่รอบๆ ดาวอังคาร

5. ทิ้งระเบิดไฮโดรเจนละลายน้ำแข็งที่ขั้วดาวอังคาร แนวคิดนี้เป็นของ อีลอน มัสต์ ที่เสนอว่าจะทำให้ดาวอังคารอุ่นขึ้นได้อย่างรวดเร็ว น้ำแข็งแห้งจะละลายออกมาสู่ชั้นบรรยากาศอย่างรวดเร็ว

ทั้งหมดเป็นเพียงทฤษฏีที่เชื่อว่าจะเป็นไปได้ แต่ยังไม่รู้แน่ชัดว่าผลลัพธ์หรือผลที่ตามมาอื่นๆจะเป็นอย่างไร ยากที่จะคาดการณ์ได้จริงๆ

สิ่งที่พยายามทำเพื่อปรับสภาพแวดล้อมดาวอังคารให้เป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ อาจล้มเหลวและทำให้หน่วยกล้าตายชุดแรกๆไม่สามารถเอาชีวิตรอดได้

แต่ถ้ายังไม่มีการสำรวจและทดลองอะไรบนดาวอังคาร ก็ไม่มีทางรู้ว่า จะเกิดอะไรขึ้นจริงๆบ้าง

นอกจากปัญหาที่ต้องหาทางปรับสภาพแวดล้อมบนดาวอังคารเพื่อให้มนุษย์อยู่อาศัยได้แล้ว ยังไม่รู้ว่าจะต้องเจอกับอุปสรรคอะไรอีก เช่น อากาศที่แปรปรวน การปรับเปลี่ยนอย่างรุนแรงของอุณหภูมิ การพุ่งชนของอุกาบาตร ฯลฯ

ผู้บุกเบิกชุดแรกอาจตายจำนวนมาก มันไม่ใช่ที่อยู่ของเศรษฐีที่จะไปหลบภัยแล้วอยู่อย่างสบายๆ ระเบิดไฮโดรเจนที่ใช้ทำลายภูเขาน้ำแข็ง อาจทำให้แกนของดาวเปลี่ยนแปลง ทำให้ดาวอังคารเสียสมดุลกลายเป็นภัยพิบัติครั้งใหญ่

แต่ถ้ามองถึงด้านบวก ก็อาจมีสิ่งใหม่ๆดีๆเกิดขึ้นอีกมาก!!!

ดาวอังคารอาจเป็นที่อยู่ใหม่ที่สวยงามของมนุษย์ในอนาคต กลายเป็นดาวที่อยู่ได้ด้วยตัวมันเอง มีดินแดนกว้างใหญ่ที่ผู้ตั้งรกรากสามารถทำประโยชน์ได้ ยังมีพื้นที่ซึ่งยังไม่ได้ออกสำรวจอีกมาก อาจพบแร่ที่มีประโยชน์หรือสิ่งมีค่ามากมายที่รอการค้นพบของมนุษย์บนดาวอังคาร

ในช่วงที่มีคนจากโลกมากถึง 1 ล้านคนไปตั้งรกรากบนดาวอังคาร จะได้เห็นธุรกิจสารพัดอย่างเกิดขึ้น เช่น มีโรงหล่อเหล็ก มีแหล่งพลังงานโซลาร์ มีร้านพิซซ่า มีบาร์คล้ายกับหนังอวกาศสตาร์วอร์ ฯลฯ

นอกจากค้าขายกันเองบนดาวอังคารแล้ว ยังสามารถผลิตสินค้าอีกหลายอย่างเพื่อส่งออกข้ามอวกาศกลับมาสู่โลก

อีลอน มัสต์ เคยเสนอหลายครั้งว่า บนดาวอังคารควรมีการปกครองแบบ Direct Democracy หรือประชาธิปไตยทางตรง ไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบตัวแทนซึ่งหลายประเทศในโลกใช้อยู่ในปัจจุบัน

นโยบายและกฎหมายสำคัญทุกเรื่องต้องเขียนให้สั้นและเข้าใจง่าย ปล่อยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจโหวตโดยตรงเหมือนการทำประชามติ สามารถใช้เทคโนโลยีช่วยในการออกเสียงต่างๆได้ไม่ยาก สิ่งที่เป็นข้อตกลงในสังคมจะมาจากความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่อย่างแท้จริง

Direct Democracy เป็นหนทางลดการฉ้อฉลของบริษัทใหญ่ที่ชอบเอาเปรียบคนส่วนใหญ่ด้วยการล็อบบี้นักการเมืองผู้มีอำนาจ ประชาธิปไตยทางตรงยังช่วยลดปัญหาการคอรัปชั่นของนักการเมืองและข้าราชการได้ด้วย เพราะมีตัวกลางที่เป็นตัวแทนน้อยลง

พอพูดถึงประชาธิปไตยทางตรงที่ก้าวหน้า ก็อดย้อนกลับมาดูสิ่งที่เกิดขึ้นในบ้านเราไม่ได้ มันรู้สึกหดหู่กับประชาชนผู้ด้อยสิทธิ์จำนวนมากในประเทศไทยจริงๆ

https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%94%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%B2%E0%B8%A3

http://fortune.com/2018/03/12/elon-musk-life-on-mars/

5 ไอเดียสุดล้ำ! ปรับสภาพดาวอังคารให้เหมือนโลก

https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%9B%E0%B9%84%E0%B8%95%E0%B8%A2%E0%B9%82%E0%B8%94%E0%B8%A2%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%87

https://en.wikipedia.org/wiki/Mars_landing

https://futurism.com/elon-musk-is-officially-sending-humans-to-mars-in-2024/

https://en.wikipedia.org/wiki/Direct_democracy

 

Leave a Reply