Chester Carlson นักกฎหมายและนักประดิษฐ์มือสมัครเล่น ได้เขียนตัวหนังสือเล็กๆลงบนสไลด์สำหรับกล้องจุลทรรศน์ ว่า “10-22-38 Astoria” แล้วเอาไปวางไว้ด้านบนของกำมะถันก่อนที่จะให้ความร้อนบนสไลด์ด้วยแสงจ้า เมื่อนำสไลด์ออกมาก็มีตัวเลขและตัวอักษรคงอยู่บนกระดาษอย่างชัดเจน…. นั่นถือว่าเป็นการทำสำเนาแบบเครื่องถ่ายเอกสารครั้งแรกของโลก นับถึงวันนี้ผ่านมานาน 80 ปีแล้ว
เมื่อคิดย้อนกลับไปถึงการค้นพบในวันนั้นเมื่อปี 1938 มันเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นมาก แต่ในตอนนั้นกลับไม่มีใครเห็นประโยชน์ของมัน!
คาร์สัน จดลิขสิทธิ์การค้นพบโดยให้ชื่อว่า ‘electrophotography’ แต่ยังมีเรื่องยากลำบากต้องทำต่ออีกมาก
เชสเตอร์ คาร์สัน ใช้เวลานานกว่า 6 ปี นำสิ่งประดิษฐ์ไปเสนอให้กับบริษัทต่างๆจำนวนมาก แต่ไม่มีใครสนใจ ทั้งนี้รวมถึงบริษัทยักษ์ใหญ่ในยุคนั้น เช่น ไอบีเอ็ม จีอี ทุกคนให้เหตุผลตอบกลับมาเหมือนกันหมดว่า “ทำไมถึงจะมีใครต้องการซื้อเครื่องก๊อปปี้ในเมื่อมีกระดาษคาร์บอนอยู่แล้ว?”
กระดาษก๊อปปี้แบบกระดาษคาร์บอน ไม่ต้องใช้เครื่องอะไรก็ทำสำเนาได้อยู่แล้ว จะมีใครต้องการเครื่องถ่ายเอกสารที่มีต้นทุนสูง?
นักธุรกิจในยุคนั้นยังมองภาพไม่ออกว่าเครื่องถ่ายเอกสารจะทำเงินได้อย่างไร ไม่ว่า คาร์สัน จะขอร้องหรืออธิบายอย่างไรก็ไม่มีใครยอมลงทุนด้วย
ในที่สุดพอถึงปี 1944 ก็มีองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรแห่งหนึ่งชื่อว่า Battelle Memorial Institute มองเห็นโอกาสในแนวคิดของ คาร์สัน และนำไปพัฒนาต่อ
ผ่านไปสามปีมีนักธุรกิจในวงการกระดาษถ่ายภาพให้ความสนใจ Haloid ขอซื้อลิขสิทธิ์เพื่อเอาไปสร้างเครื่องถ่ายเอกสารออกขายเป็นการค้าในวงกว้าง และมั่นใจว่าสามารถทำเงินได้มากอย่างแน่นอน แต่พวกเขาไม่ชอบชื่อ ‘electrophotography’ และเปลี่ยนชื่อเป็น xerox
นั่นคือจุดเริ่มต้นทางการค้า และทำให้ชื่อ ซีร็อก กลายเป็นคำที่ใช้เรียกสำหรับการถ่ายเอกสารมาจนถึงทุกวันนี้
เครื่องถ่ายเอกสารรุ่นแรกของโลก คือ Xerox Model A เริ่มวางขายในปี 1949 และอีก 9 ปีต่อมา คือ ปี 1958 ก็ตามมาด้วย Xerox 914 ซึ่งทำให้เครื่องถ่ายเอกสารได้รับการยอมรับในวงกว้างอย่างแท้จริง
ไม่มีใครรู้ล่วงหน้ามาก่อนว่า การคิดค้นครั้งแรกของการถ่ายเอกสารที่เกิดขึ้นในปี 1938 จะกลายของจำเป็นที่สามารถทำเงินได้มหาศาลขนาดนี้
ถ้ามองเห็นอนาคตล่วงหน้า ยักษ์ใหญ่อย่าง ไอบีเอ็ม หรือ จีอี คงไม่มีทางปฏิเสธเครื่องถ่ายเอกสารแน่ๆ!!!
http://www.top4photocopiers.co.uk/print-news/the-history-of-the-photocopier/
https://www.smithsonianmag.com/history/duplication-nation-3D-printing-rise-180954332/