(บทความ : สุทธิชัย ทักษนันต์)
ถ้าประเทศไทยเดินหน้าถูกทิศทาง ถือว่ายุคนี้เป็นโอกาสทองของการเดินทางลัดไปสู่ความเจริญที่รวดเร็วขึ้น ได้เปรียบกว่าประเทศที่พัฒนาเสียอีก เพราะพวกเขาต้องใช้ของเก่าให้คุ้มก่อน ในขณะที่เราไม่จำเป็นต้องเดินตามหลังทีละก้าว แต่สามารถก้าวไปหาของใหม่เลย
ตัวอย่างการก้าวกระโดดที่เห็นชัดที่สุดมีให้เห็นในอินเดียและจีน พื้นที่ห่างไกลความเจริญที่ยังไม่ได้รับการพัฒนามากนักได้รับประโยชน์จากยุคอินเตอร์เน็ตแบบสังคมโมบาย ไม่ต้องรอความเจริญเป็นสายโทรศัพท์หรือเคเบิลเข้าไปสู่ท้องถิ่นกันดารต่างๆ แต่สามารถส่งข้อมูลความรู้ความเจริญผ่านทางอากาศ ผ่านสมาร์ตโฟน
มีศัพท์เฉพาะในภาษาอังกฤษว่า Leapfrogging แปลความหมายได้ว่า ก้าวกระโดด เป็นอะไรที่เหมาะกับยุคสมัยนี้ของไทยอย่างมาก แทนที่จะค่อยๆเดินไปทีละขั้นก็เปลี่ยนมาใช้วิธีการแบบก้าวกระโดด หยุดพัฒนาไปในแนวทางเก่าที่กำลังเป็นเรื่องตกยุคตีบตัน เลือกเดินหน้าไปตามกระแสใหม่ของโลก
โดยสภาพความจริง ประเทศไทยยังเป็นอะไรที่เรียกว่าอยู่ในยุค 2 หรือต้นยุค 3 ของการปฏิวัติอุตสาหกรรมโลก น่าจะเป็นโอกาสดีที่จะกระโดดข้ามไปยุคใหม่ทันที ไม่ต้องค่อยๆเดินทีละก้าว แต่ก้าวกระโดดข้ามไปหายุค 4.0 เลย แนวทางก็ไม่ได้ซับซ้อนอะไร เพียงแค่ตามกระแสใหม่ของโลกให้ทัน อย่าเสียเวลาเดินไปในทางที่กำลังจะตกยุคสมัย
โครงการประเทศไทย 4.0 ในภาพกว้างก็คือการนำประเทศให้สอดคล้องกับโลกในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 แต่ในภาคปฏิบัติหรือกิจกรรมที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ยังไม่ค่อยเห็นอะไรเป็นรูปธรรม
เริ่มตั้งแต่เรื่องใหญ่ที่สุด คือ เรื่องของพลังงาน กระแสโลกกำลังหันไปหาพลังงานหมุนเวียนที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ไม่รู้จบ แต่ดูเหมือนว่าเราให้ความสำคัญกับมันน้อยมาก
พลังงานแห่งอนาคตเป็นพลังงานสะอาด และไม่ใช่เรื่องของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่เป็นเหตุผลสำคัญ แต่สาเหตุหลักมาจากต้นทุนของพลังงานสะอาดที่ถูกกว่า
ในปัจจุบันต้นทุนของโรงไฟฟ้าที่มาจากโซลาร์เซลล์หรือพลังงานแสงอาทิตย์มีต้นทุนต่ำที่สุด ต่ำกว่าพลังงานลม และต่ำกว่าพลังงานฟอสซิลที่สร้างปัญหามลพิษทุกชนิด เช่น ถ่านหิน ก๊าซ น้ำมัน
ต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ต่ำลงยังหมายถึงต้นทุนการผลิตของสินค้าที่ต่ำลงด้วย ถือเป็นแรงจูงใจสำคัญอย่างหนึ่งสำหรับโรงงานที่เป็นทุนต่างชาติที่จะเลือกมาตั้งโรงงานในประเทศไทย
อีกเรื่องที่เกี่ยวโยงกับเรื่องพลังงานและถึงเวลาที่ประเทศไทยควรมีการก้าวกระโดดทันที คือ ยานยนต์ไฟฟ้า
อเมริกา จีน ยุโรป กำลังเดินหน้าครั้งใหญ่ไปใช้ยานยนต์ไฟฟ้า เป็นทิศทางที่ชัดเจนว่าเป็นกระแสใหม่ของโลก แต่หันมาดูประเทศไทย ยังไม่มีอะไรคืบหน้า ไม่มีอะไรที่เป็นรูปธรรม ทั้งๆที่ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของโลก
การที่ไทยมีโรงงานผลิตรถยนต์แบบเทคโนโลยีเก่าที่เป็นเครื่องยนต์ใช้น้ำมันจำนวนมาก กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้ยานยนต์ไฟฟ้าไทยก้าวไม่ทันโลก เพราะกลัวการเปลี่ยนผ่านที่รวดเร็วเกินไป กลัวว่าจะส่งผลทำให้โรงงานผลิตรถยนต์รูปแบบเก่ามีปัญหา ยังไม่ได้ทุนคืนให้กับโรงงานเก่า
มีหลายคนวิเคราะห์ที่ฟังดูเหมือนตลกที่ขำไม่ออกว่า ประเทศไทยจะเป็นประการด่านสุดท้ายของโลกที่จะปกป้องอนุรักษ์เทคโนโลยีเครื่องยนต์ไออีซีใช้น้ำมันแบบเก่าให้อยู่ในโลกได้นานที่สุด
ก็อยากเห็นใจนายทุนทั้งในประเทศและทุนข้ามชาติเหมือนกัน แต่ต้องถือว่านี่เป็นความเสี่ยงทางธุรกิจที่ต้องแบกรับเอาไว้เอง ทุกคนมีหน้าที่ต้องปรับตัวให้ทันตามกระแส ที่ผ่านมาก็มีช่วงเวลางามๆที่ได้กอบโกยกันไปมากแล้ว
พ่อค้าน้ำมันรายใหญ่ของโลกกำลังหาทางออกให้กับอนาคตของธุรกิจน้ำมัน ที่ดูเหมือนว่ากำลังจะมีปัญหาจากยานยนต์ยุคใหม่ที่เปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิงไฟฟ้ากันมากขึ้น พวกเขาวิเคราะห์ว่าในระยะสั้นแล้วบริษัทน้ำมันคงไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะเชื่อว่ายังมีความจำเป็นต้องใช้น้ำมันจำนวนมากสำหรับ รถบรรทุก เรือเดินสมุทร เครื่องบิน ปิโตรเคมีภัณฑ์
นักอุตสาหกรรมน้ำมันยังวิเคราะห์ต่อไปด้วยว่า การเปลี่ยนแปลงที่อาจทำให้น้ำมันมีการใช้น้อยลงส่วนใหญ่อยู่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ประเทศที่กำลังพัฒนาในเอเชียซึ่งเป็นผู้บริโภคน้ำมันส่วนใหญ่ของโลก ยังไม่ได้ทำอะไรที่เป็นสัญญาณบอกว่าจะใช้น้ำมันน้อยลง
ได้ฟังเขาวิเคราะห์แล้วรู้สึกเจ็บปวดใจจริงๆ เราก็เป็นประเทศหนึ่งที่ยังไม่พัฒนา และคงเป็นเหยื่อทางการค้าของพ่อค้าน้ำมันที่พวกเขายังสามารถกอบโกยผลประโยชน์จากเราได้ต่อไปอีกนาน
อีกเรื่องหนึ่งที่น่าห่วง เป็นเรื่องของกระแสใหม่ของโลกที่ใช้ระบบอัตโนมัติมากขึ้น พึ่งพาแรงงานน้อยลง มีการวิเคราะห์ว่าหากนำเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบันมาปรับใช้กับโรงงานหรือการทำงานในสำนักงานทั้งหมด จะต้องเอาคนออกจากงานทุกแห่งทั่วโลกมากกว่าครึ่ง
สาเหตุที่มีการนำเครื่องจักรหรือคอมพิวเตอร์มาช่วยทำงานแทนคนมากขึ้น เพราะได้ผลรับที่มีประสิทธิภาพดีกว่า และมีต้นทุนต่ำกว่าใช้แรงงานคน
โรงงานในเอเชียที่เป็นประเทศที่กำลังพัฒนาซึ่งรวมถึงประเทศไทย หากต้องการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิต ก็จำเป็นต้องนำเครื่องจักรจากเทคโนโลยีใหม่มาใช้เช่นกัน แต่ก็มีเรื่องน่าห่วงตามมาว่า หากมีการนำเครื่องจักรมาแทนคนมากๆอย่างรวดเร็ว จะทำให้คนตกงานพร้อมๆกันจำนวนมาก และอาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ทางสังคม
เครื่องมือเครื่องใช้ที่สร้างจากเทคโนโลยีใหม่ที่เกิดขึ้นทุกวัน เป็นอะไรที่เหลือเชื่อจริงๆ แม้แต่คนที่อยู่ในวงการเองก็ยังไม่แน่ใจว่าจะพัฒนาอะไรต่อไปได้อีก
ต่อไปในอนาคตสินค้าที่ผลิตจากโรงงานในอเมริกาหรือยุโรปอาจมีต้นทุนไม่แตกต่างจากสินค้าที่ผลิตในประเทศที่กำลังพัฒนา เทคโนโลยีใหม่ที่ใช้แรงงานคนน้อยทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำลง งานหลายอย่างสามารถใช้หุ่นยนต์ที่มีอิสระในการเคลื่อนไหวได้เหมือนคนโดยไม่ต้องปรับเปลี่ยนระบบหรือสภาพแวดล้อมเดิมมากนัก
ค่าไฟฟ้าในประเทศที่พัฒนาแล้วซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญก็จะต่ำลง เพราะใช้พลังงานหมุนเวียนที่มีต้นทุนต่ำ ปัญหามลพิษที่เคยกังวลกันก็จะมีน้อยลง ไม่จำเป็นต้องผลักการผลิตสินค้าไปสู่โรงงานในประเทศโลกที่สามเหมือนในอดีต
ผู้นำของหลายประเทศกำลังคิดหาทางออกให้กับโลกที่จะเปลี่ยนไปอย่างรุนแรงในอนาคต ตำแหน่งงานเก่าๆกำลังจะหายไปมากกว่าครึ่ง แล้วจะรับมือกับคนว่างงานจำนวนมากอย่างไร จะพัฒนาคนเหล่านี้ไปสู่งานในทักษะใหม่ๆสำหรับอนาคตได้อย่างไร
สถาบันการศึกษาทั่วโลกส่วนใหญ่ยังใช้วิธีการเรียนการสอนแบบเก่า มีหลักสูตรเดิมๆที่ไม่เคยเปลี่ยนมานาน 20-30 ปี จะปรับเปลี่ยนกันอย่างไร เพราะงานที่เหลือให้คนทำในอนาคตมากกว่าครึ่งเป็นงานที่วันนี้ไม่มีใครรู้ว่าเป็นอย่างไร
สิ่งที่หลายประเทศเริ่มทำกันแล้ว คือ การสอนภาษาคอมพิวเตอร์ให้กับนักเรียนนักศึกษา มีการฝึกฝนทักษะในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ มากขึ้น
ต้องบอกตามตรงว่า ผมไม่มีความหวังกับภาครัฐที่บริหารประเทศอยู่ในปัจจุบัน
มันมีปัญหามากมายรออยู่ข้างหน้า และพวกเราคงต้องหาทางดิ้นรนกันเอาเอง
การก้าวกระโดดเข้าหาเทคโนโลยีใหม่น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับประเทศไทยในยุค 4.0