จีนไม่ยอมตกขบวนเทคโนโลยีขนส่งรูปแบบใหม่ Hyperloop ที่สามารถวิ่งด้วยความเร็วเสียง 1200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ประกาศทดลองสร้างเส้นทางแรกยาว 10 กิโลเมตรในมณฑลกุ้ยโจว โดยเริ่มที่เมืองท่องเที่ยวชื่อดังของจีนในเขตถงเหริน หากระบบทำงานได้ผลดี จะขยายเส้นทางจากเขตถงเหรินไปนครกุ้ยหยางซึ่งเป็นเมืองเอกของมณฑลกุ้ยโจว มีระยะทางยาวกว่า 400 กิโลเมตร เส้นทางนี้หากไปด้วยเครื่องบินใช้เวลา 1 ชั่วโมง หรือขับรถนาน 5 ชั่วโมง แต่เดินทางในท่อด้วยไฮเปอร์ลูปใช้เวลาเพียง 20 นาที ตกลงเซ็นสัญญาเรียบร้อยแล้ว เริ่มสร้างจริงปลายปี 2018 หรือต้นปี 2019
โครงการในประเทศจีนครั้งนี้เป็นข้อตกลงระหว่าง HTT ของอเมริกา กับ Tongren Transportation & Tourism Investment Group ของจีน
แม้ว่ายังไม่สามารถทำความเร็วเสียงได้ แต่ผู้บริหารของ HTT เปิดเผยว่า ระยะทางทดสอบที่ยาวถึง 10 กิโลเมตร จะทำให้ไฮเปอร์ลูปในเส้นทางนี้ทำความเร็วด้วยสถิติใหม่ที่ 671 ไมล์ต่อชั่วโมง หรือ 1,079 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
HTT หรือ Hyperloop Transportation Technologies เป็นหนึ่งในสี่บริษัทของโลกที่ในปัจจุบันสามารถสร้างไฮเปอร์ลูปได้
ถ้านับเฉพาะสัญญาสร้างระบบไฮเปอร์ลูปเพื่อการพาณิชย์ของ HTT ในปัจจุบัน สรุปแล้วมี 3 โครงการ คือ
-อาบูดาบีของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เซ็นสัญญาในเดือนเมษายน 2018
-ยูเครน เซ็นสัญญาในเดือนมิถุนายน 2018
-ถงเหริน มณฑลกุ้ยโจวประเทศจีน เซ็นสัญญาในเดือนกรกฎาคม 2018
หากนับรวมทุกโครงการที่ HTT มีข้อตกลงศึกษาหรือสร้างระบบไฮเปอร์ลูปกับเมืองหรือประเทศต่างๆ มีรวมทั้งสิ้น 12 โครงการในประเทศต่างๆ คือ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ยูเครน จีน ฝรั่งเศส บราซิล สหรัฐอเมริกา สโลวาเกีย สาธารณรัฐเช็ก อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ อินเดีย
อีกบริษัทหนึ่งที่กำลังเอาจริงเอาจังกับเทคโนโลยีไฮเปอร์ลูป คือ Virgin Hyperloop One ซึ่งวันนี้มีหัวเรือใหญ่เป็นนักธุรกิจคนดังของโลก เป็นซีอีโอของเวอร์จิ้นกรุ๊ป Richard Branson
Virgin Hyperloop One กำลังแข่งขันรุนแรงกับ HTT ใครสนใจสร้างไฮเปอร์ลูปจะพิจารณาข้อเสนอของสองบริษัทนี้ก่อนเสมอ
ดูเหมือนว่าในตะวันออกกลางจะมีความสนใจเทคโนโลยีใหม่นี้มากเป็นพิเศษ
เมื่อเร็วๆนี้ มีรายงานความร่วมมือระหว่าง Virgin Hyperloop One กับ DP World ของดูไบ โดยมีแผนจะใช้ไฮเปอร์ลูปสำหรับระบบขนส่งสินค้าทั่วโลก
Virgin Hyperloop One มีข่าวเกี่ยวกับไฮเปอร์ลูปมาอย่างต่อเนื่อง
มีเส้นทางทดสอบที่สมบูรณ์แบบในเมืองเอเพ็คซ์ รัฐเนวาดา สหรัฐอเมริกา
มีสัญญาประเมินผลการสร้างไฮเปอร์ลูปเชื่อมระหว่างดูไบและอาบูดาบี ซึ่งสามารถลดระยะเวลาเดินทางที่นานกว่า 90 นาทีให้เหลือเพียง 12 นาที
ตามรายงานของ Virgin Hyperloop One แจ้งว่ามีเส้นทางที่กำลังศึกษาหรืออยู่ระหว่างการตกลงสร้างไฮเปอร์ลูปมากถึง 35 โครงการ ใน 17 ประเทศ คือ อินเดีย อเมริกา ยูเค อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย แคนาดา จีน เยอรมัน ฟินแลนด์ สเปน ฝรั่งเศส อิสราเอล เกาหลีใต้ เม็กซิโก เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ แอฟริกาใต้
วันนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าเส้นทางไฮเปอร์ลูปสายแรกของโลกที่จะเปิดให้มีการใช้งานจริงจะอยู่ที่ไหนในโลก แต่ต้องเป็นของบริษัทใดบริษัทหนึ่งระหว่าง Hyperloop Transportation Technologies หรือ Virgin Hyperloop One
มีอีก 2 บริษัทที่มีความพร้อมในเทคโนโลยีไฮเปอร์ลูป คือ The Boring Company และ Arrivo แต่ดูเหมือนว่าทั้งสองบริษัทนี้กำลังหันไปสนใจระบบ Loop ซึ่งไม่ได้ใช้ระบบแรงดันอากาศ แต่ให้รถหรือสินค้าบรรทุกบนยานพาหนะที่ขับเคลื่อนได้เองบนทางพิเศษหรืออุโมงค์ ทำความเร็วได้ระหว่าง 200-300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เหมาะสำหรับระบบขนส่งในเมืองหรือในภูมิภาคที่มีระยะทางไม่ไกลมากนัก
แนวคิดเทคโนโลยี Hyperloop มีจุดเริ่มต้นมาจาก อีลอน มัสต์ นายใหญ่เทสล่าและสเปซเอ็กซ์ ซึ่งเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะในปี 2013 ยอมให้ทุกคนที่สนใจเอาไปพัฒนาต่อยอดได้อย่างไม่มีค่าลิขสิทธิ์
มีการคาดการณ์ว่าเส้นทางไฮเปอร์ลูปสายแรกที่สามารถเดินทางได้เร็วกว่าเครื่องบินจะเป็นจริงในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ถึงวันนั้นเมื่อไรก็คงได้เห็นการพลิกโฉมหรือล่มสลายครั้งใหญ่ของอุตสาหกรรมรถไฟความเร็วสูงและการบิน ซึ่งเมื่อเทียบกันแล้ว ไฮเปอร์ลูปมีต้นทุนต่ำกว่าและประสิทธิภาพเหนือกว่ามาก
https://edition.cnn.com/travel/article/first-hyperloop-in-guizhou-china/index.html
http://www.hyperloop.global/announcement
https://www.boringcompany.com/
Click to access hyperloop_alpha3.pdf