ฟังหัวใจเต้นไกล 200 ม. ระบุตัวตนได้ ถ้ามีเลเซอร์ดีๆอาจตรวจจับจากอวกาศ เพนตากอนสหรัฐใช้ค้นหาผู้ก่อการร้าย AIฟังเสียงหัวใจคนไข้ รู้อาการผิดปกติ

เพนตากอน กระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา มีเลเซอร์ที่สามารถตรวจจับฟังเสียงหัวใจเต้นของคนแล้วระบุตัวตนว่าเป็นใครจากระยะไกล วันนี้ยังเป็นแค่ตัวต้นแบบที่ตรวจสอบจากระยะไกลแค่ 200 เมตร

จังหวะการเต้นของหัวใจของคนแต่ละคนบนโลกมีความแตกต่างกันแบบไม่มีใครซ้ำกัน เลเซอร์อินฟราเรดเอาข้อมูลเข้าเครื่องทำการวิเคราะห์แล้วเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลเก่าที่มีอยู่ จะรู้ว่าเป็นใครโดยไม่ต้องเห็นหน้า แค่ฟังเสียงหัวใจเต้นประมาณ 30 วินาทีจากเสียงที่เบามากผ่านเสื้อผ้าหรือแจ๊กเก็ตก็ระบุตัวตนได้

ตามรายงานแจ้งว่ามีความถูกต้อง 95% แต่ถ้ามีระบบ AI จดจำใบหน้ามาใช้ควบคู่กันด้วย ความถูกต้องแม่นยำจะเพิ่มขึ้นเป็น 98%

กองทัพสหรัฐฯเริ่มมีการเก็บข้อมูลไบโอเมตริกซ์กันแล้ว มีข่าวว่าเริ่มทำในงานของกองทัพสหรัฐฯในอีรักและอัฟกานิสถาน

หน้าตา ท่าเดิน ลายนิ้วมือ การเต้นของหัวใจ ของคนบนโลกหลายพันล้านคน มีรูปแบบเฉพาะที่ไม่ซ้ำกัน ถ้าใช้คนตรวจคงแยกแยะไม่ได้ แต่ AI สามารถแยกแยะได้ ข้อสำคัญต้องมีการเก็บข้อมูลพื้นฐานที่สมบูรณ์เอาไว้ใช้เปรียบเทียบก่อน

การระบุตัวตนโดยฟังจากจังหวะการเต้นของหัวใจ เป็นอินเตอร์เฟซแบบเสียงที่ AI รับสัญญาณเป็นข้อมูลเข้ามาโดยไม่ต้องเห็นหน้าว่าเป็นใคร ในทางปฏิบัติจริงเวลาได้ยินเสียงของผู้ต้องสงสัยก็จะใช้กล้องจับจ้องเข้าไปดูแหล่งที่มาให้ชัดเจนอีกครั้ง เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยสามารถเจาะเข้าหาผู้ต้องสงสัยได้ทันที

ตามข่าวบอกว่าตอนนี้ยังเป็นแค่ตัวต้นแบบ ในระยะยาวหากมีเลเซอร์ประสิทธิภาพดีๆ อาจใช้เลเซอร์ไวเบรชั่นที่ยิงมาจากอวกาศแล้วตรวจดูจังหวะการเต้นหัวใจของคนตามแหล่งเป้าหมายต่างๆแล้วรู้ว่ามีใครอยู่ตรงนั้นบ้าง

ระบบตรวจสอบจังหวะการเต้นของหัวใจนี้ สามารถพัฒนาเอาไปใช้ในวงการแพทย์ได้เป็นอย่างดี ต่อไปในอนาคต ให้ AI ช่วยฟังเสียงการเต้นหัวใจของคนไข้ก็บอกได้เลยว่า เขาหรือเธอเป็นใคร ชื่ออะไร อายุเท่าไร มีประวัติทางการแพทย์อย่างไร ไม่ต้องรอให้ใครมาบอกว่าคนไข้เป็นใครมาจากนั้น คนไข้บางคนไม่ได้สติหรือไม่มีบัตรประจำตัวติดตัว ก็รู้ได้ว่าเป็นใคร

ในระยะยาวที่ไกลขึ้นไปอีก เทคโนโลยีนี้สามารถพัฒนาเอาไปช่วยงานของหมออีกหลายอย่าง

เราเคยเห็นหมอพกเครื่องฟังเสียงอยู่ตลอดเวลา เอาไว้ฟังเสียงหัวใจคนไข้ ฟังแล้วหมอรู้ว่ามีปัญหาอะไร ต่อไปให้ AI ฟังเสียงแทน แล้วมันบอกได้ว่ามีอะไรผิดปกติบ้าง ความถูกต้องแม่นยำมีมากกว่าหมอด้วย

ต่อไปคนไข้อาจไม่ต้องติดสายอะไรมากมาย พอ AI ได้ยินเสียงอะไรที่ผิดปกติจากจังหวะการเต้นของหัวใจคนไข้ มันสามารถส่งสัญญาณเตือนให้หมอมารีบเยียวยาก่อนจะสายเกินไปได้ทันที….

 

Leave a Reply