อีลอน มัสต์ คือ บุคคลที่ได้รับการยกย่องมากที่สุดในแวดวงเทคโนโลยี เมื่อดูจากสิ่งที่เขาทำหรือกำลังจะทำสำเร็จในอนาคตก็คงไม่มีใครแปลกใจ เรียกว่ามีเทคโนโลยีเด็ดที่ครอบคลุม “บนฟ้า” “บนบก” และ “ใต้ดิน”
บนฟ้ามีโครงการอวกาศ SpaceX บนบกมี Tesla ที่มีทั้งยานยนต์ไฟฟ้าและพลังงานสะอาดโซลาร์ ส่วนใต้ดินก็มี The Boring Company
นักข่าวฝรั่งชอบเขียนล้อเลียนว่า.. บริษัทชื่อ “น่าเบื่อ” แต่ทำอะไร “ไม่น่าเบื่อ” เหมือนชื่อ
The Boring Company เป็นบริษัทใหม่ที่ก่อตั้งวันที่ 17 ธันวาคม 2016 ชื่อบริษัทฟังดูแปลกและอาจทำให้คนสับสนอยู่บ้าง
คำว่า Boring แปลว่า “น่าเบื่อ” แต่ที่จริงมีอีกความหมายหนึ่งว่า “คว้าน-เจาะ-ไช” มันน่าจะเป็นสิ่งที่ต้องการสื่อความหมายกิจกรรมของบริษัทนี้มากกว่า เพราะเป็นงานที่ทำกันใต้ดิน ขุดเจาะทำอุโมงค์สร้างระบบขนส่งมวลชนใต้ดิน แต่ไม่ใช่ระบบรถไฟฟ้าใต้ดินแบบเก่า
ขณะก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนใต้ดิน จะไม่มีผลกระทบต่อระบบจราจรบนพื้นถนนด้านบน และมีสถิติที่ยืนยันว่าเมื่อเกิดแผ่นดินไหว อุโมงค์ใต้ดินมักจะไม่ได้รับความเสียหายอะไร ในขณะที่บนดินมีโอกาสพังพินาศมากมาย
อุโมงค์สำหรับรถไฟฟ้าใต้ดินที่ขุดกันอยู่ทั่วไปในวันนี้ มีต้นทุนการขุดสูงถึง $1 พันล้านต่อไมล์ ที่มันแพงมากเพราะแต่ละเลนในอุโมงค์มีความกว้างถึง 28 ฟุต แต่ระบบขนส่งมวลชนแบบใหม่ของ The Boring Company อุโมงค์จะกว้างน้อยกว่า 14 ฟุต ต้นทุนการขุดลดลง 3-4 เท่า เครื่องขุดเจาะเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าระบบเก่าซึ่งไม่มีการพัฒนามานาน
เครื่องขุดเจาะที่ใช้ คือ TBM หรือ Tunnel Boring Machine อยู่ระหว่างการพัฒนาหลายด้าน เช่น เป็นระบบไฟฟ้า มีกำลังมากกว่าเครื่องเจาะแบบเก่า 3 เท่า เป็นระบบอัตโนมัติที่ทำงานได้เร็วอย่างต่อเนื่อง ฯลฯ
ระบบขนส่งมวลชนที่ เดอะบอร์ริ่งคอมพานีย์ กำลังทำอยู่ใต้ดินในวันนี้ คือ Hyperloop และ Loop ทั้งสองระบบมีความคล้ายกันและต่างกันอยู่บ้าง
Hyperloop เป็นระบบขนส่งมวลชนใต้ดินที่ใช้ Pods เคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงในระดับ 600 ไมล์ต่อชั่วโมง หรือ 960 กิโลเมตรต่อชั่วโมง วิ่งด้วยระบบไฟฟ้าอัตโนมัติ ในแต่ละพอดส์สามารถบรรทุกผู้โดยสาร 8-16 คน หรืออาจนำรถทั้งคันเข้าไปในพอดส์แล้วปล่อยให้ระบบไฮเปอร์ลูปเคลื่อนที่พาไปเอง
Loop เป็นระบบขนส่งมวลชนความเร็วสูง 125-150 ไมล์ต่อชั่วโมง หรือ 200 – 240 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พาหนะที่ใช้อาจเป็นรถยนต์ส่วนตัวหรือรถโดยสารส่วนรวม โดยยานพาหนะจะจอดอยู่บนสเก็ตไฟฟ้าแล้วปล่อยให้มันวิ่งในระบบลูปเอง รถสามารถบรรทุกผู้โดยสาร 8-16 คน
ทั้งสองระบบล้วนวิ่งอยู่ในอุโมงค์ แต่ส่วนที่แตกต่างกัน คือ Hyperloop เอาไว้ใช้สำหรับการเดินทางไกล วิ่งด้วยแรงดันต่ำ ต้องกำจัดแรงเสียดทานอากาศเพื่อทำความเร็วสูง ในขณะที่ Loop ใช้สำหรับการเดินทางระยะสั้น ไม่ต้องคำนึงถึงเรื่องแรงเสียดทานของอากาศ
มีการยืนยันแน่ชัดว่า ต้นทุนค่าเดินทางของทั้งสองระบบจะต่ำกว่าค่าเดินทางที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอย่างแน่นอน คงทำให้ระบบขนส่งมวลชนแบบเก่ามีคู่แข่งที่น่ากลัว และหากไม่มีการปรับปรุงอะไร อาจถึงคราวล่มสลายได้
ข่าวเรื่องการสร้าง Hyperloop และ Loop มีการเผยแพร่มาตั้งแต่ปี 2017 แต่ข่าวใหม่ในช่วงนี้ของ The Boring Company เป็นเรื่องเกี่ยวกับการนำดินโคลนที่ขุดเจาะจากอุโมงค์มาทำเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่
เมื่อวันที่ 25-03-2018 อีลอน มัสต์ เปิดเผยว่ากำลังทำอิฐที่เชื่อมต่อกันได้แบบของเล่นเด็กเลโก้ ความแข็งแรงรองรับได้ถึงระดับแผ่นดินไหวตามมาตรฐานของแคลิฟอร์เนียร์ คนสองคนสามารถช่วยกันสร้างกำแพงด้านนอกของบ้านหลังเล็กให้เสร็จภายในวันเดียว
มีข่าวล่าสุดเมื่อวันที่ 7-05-2018 เกี่ยวกับโครงการนี้เพิ่มเติมว่า The Boring Company จะใช้ดินโคลนที่ขุดเจาะจากอุโมงค์ใต้ดิน มาทำเป็นอิฐเพื่อสร้างบ้านที่มีต้นทุนต่ำ สำนักงานแห่งใหม่ของบริษัทก็จะใช้อิฐเหล่านี้ในการสร้างด้วย
การเอาดินโคลนมาใช้ในการก่อสร้างไม่ใช้เรื่องใหม่ ทำกันมาหลายพันปีแล้ว เทคโนโลยีใหม่ที่จะช่วยทำให้อิฐแข็งแรงก็ทำได้ไม่ยาก มีวัตถุดิบเหลือเฟือจากดินโคลนที่ขุดจากอุโมงค์ แทนที่จะต้องเสียค่าใช่จ่ายมหาศาลในการเอาไปทิ้งที่อื่นให้ไกลจากชุมชนเมือง สามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการสร้างอิฐที่แข็งแรง และมีต้นทุนต่ำมาก
มีการวางแผนว่าจะเอาอิฐของ The Boring Company มาใช้เป็นส่วนประกอบในการสร้างอุโมงค์ที่ขุดเจาะเสร็จแล้วด้วย ซึ่งโดยปกติแล้วมักใช้คอนกรีต ถือว่าเป็นหนทางช่วยลดภาระสิ่งแวดล้อม เพราะในปัจจุบันการสร้างคอนกรีตมีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลกประมาณ 4.5%
ต้องขอยอมรับในจิตสำนึกในการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมของ อีลอน มัสต์ จริงๆ และยังเป็นวิธีที่ช่วยทำให้ต้นทุนต่างๆลดลงไปได้อีกมากด้วย!!!
https://www.boringcompany.com/faq/
Elon Musk reiterates plan to use Boring Co. bricks for affordable housing