เมื่อวันอังคารที่ 12-02-2019 มีรายงานผลการวิจัยจาก IPPR หรือ Institute for Public Policy Research มีข้อสรุปว่า ความเสียหายที่มนุษย์กระทำต่อสิ่งแวดล้อม อาจนำพาไปสู่ความเสียหายครั้งใหญ่ต่อเศรษฐกิจโลก มีการประเมินว่าอาจเลวร้ายถึงขั้นทำให้เศรษฐกิจในหลายๆประเทศล่มสหาย
มีการเปรียบเทียบว่าความร้ายแรงอาจอยู่ในระดับเดียวกับยุคซับไพร์มหรือวิกฤติแฮมเบอร์เกอรที่เคยเกิดขึ้นในช่วงปี 2008
อุณหภูมิที่สูงขึ้นหรือปัญหาโลกร้อนที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและสังคม สิ่งที่เกิดขึ้นจะเหมือนกับปัญหาที่เกิดจาก สงคราม ความกันดาร และการอพยพครั้งใหญ่ของผู้คน
ผู้ดำเนินการวิจัยได้เรียกร้องให้ผู้มีอำนาจซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบาย เปลี่ยนมุมมองต่อสิ่งที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของโลก และเป็นงานที่ต้องเร่งทำอย่างเร่งด่วนก่อนเรื่องร้ายๆจะเกิดขึ้นจริง
มีการคาดการณ์ว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมจะส่งผลกลายเป็นภัยพิบัติทางการเงิน ทำให้เกิดความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ มีโอกาสที่จะเลวร้ายถึงขึ้นเกิดความล่มสลายอย่างต่อเนื่องต่อระบบที่มนุษย์เป็นอยู่ในปัจจุบัน กระทบกันเป็นลูกโซ่จนเป็นวิกฤติการเงินโลก
นักลงทุนที่เอาเงินไปลงทุนอยู่ในอุตสาหกรรมพลังงานฟอสซิลจะเกิดความผันผวนมากเป็นพิเศษ การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลทั่วโลกจะลดลง โลกกำลังจะชาร์จเงินกับบริษัทที่ปล่อยคาร์บอนซึ่งเป็นตัวการทำให้เกิดปัญหามลพิษ
มีการประเมินว่า มีบริษัทใหญ่ 100 แห่ง เป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจก 71% ของโลก และสร้างความเสียหายมาแล้วตั้งแต่ปี 1998 ถึงปัจจุบัน
ประเทศที่ยากจนกว่า มีความเสี่ยงต่อผลที่จะได้รับจากการพังทลายของสิ่งแวดล้อมมากกว่า ประเทศเหล่านี้ไม่มีความพร้อมที่จะรับมือเพื่อตอบสนองต่อปัญหาที่จะเจอ
ในการศึกษาครั้งนี้พบว่า ผู้กำหนดนโยบายและนักการเมืองไม่มีความตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม และไม่มีการเตรียมรับมือกับปัญหาใหญ่ที่จะเกิดขึ้นอนาคต
สองสามปีที่ผ่านมานี้ มีข่าวออกมาอย่างต่อเนื่องที่ส่งสัญญาณว่า ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงต่างๆ อาจส่งผลเสียหายกลายเป็นวิกฤติเศรษฐกิจได้จริงๆ
อุตสาหกรรมโรงงานผู้ผลิตรถยนต์ดั้งเดิมที่ใช้น้ำมันกำลังเจอเรื่องท้าทายอย่างหนัก นอกจากแข่งกันเองแล้ว ยังต้องเจอกับคู่แข่งหน้าใหม่อีกหลายร้อยรายที่จะมาขายยานพาหนะแข่งด้วย แต่เป็นยานยนต์ไฟฟ้าหรือรถไร้คนขับ
เราจะได้เห็นโรงงานรถยนต์หลายแห่งปรับตัวไม่ทัน อาจถึงขั้นทำให้ต้องล้มละลาย อนาคตเป็นของยานยนต์ไฟฟ้าอย่างแน่นอน ขึ้นอยู่กับว่ามันจะเร็วหรือช้าแค่ไหนเท่านั้น
ผู้ผลิตน้ำมันกำลังจะเจอตลาดโลกที่มีความต้องการใช้น้ำมันลดต่ำลง
เพียงแค่เกิดปัญหาราคาน้ำมันลดต่ำลงก็แก้ปัญหากันยากแล้ว ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันในอาหรับหลายประเทศกำลังเจอปัญหาเรื่องรายได้น้อยกว่ารายจ่าย นับตั้งแต่ปี 2014 ซึ่งมีปัญหาเรื่องราคาน้ำมันดิ่งต่ำลง หลายประเทศยังไม่พื้นกลับมา มีตัวเลขแสดงให้เห็นชัดเจนว่าหลายประเทศในอาหรับมีหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น เพราะมีรายได้ไม่พอรายจ่าย
ปัญหาการล่มสลายของประเทศเวเนซุเอลาเห็นชัดเจนที่สุด ทั้งประเทศพึ่งพาแต่รายได้จากน้ำมัน พอราคาน้ำมันมีปัญหาก็เลยกลายเป็นวิกฤติไปทั่วประเทศ รายจ่ายที่เคยมีมากต่อเนื่องมานานไม่เคยเป็นปัญหาเพราะมีรายได้จากน้ำมันจำนวนมาก พอต้องลดรายจ่ายลงเพราะรายได้น้ำมันลดต่ำลงก็เลยกลายเป็นการชักหน้าไม่ถึงหลัง ประเทศมีรายได้น้อยกว่ารายจ่าย
พลังงานโซลาร์และลมซึ่งเป็นพลังงานสะอาด จะกลายเป็นแหล่งพลังงานหลักของโลกในอนาคต และเหตุผลที่มีการเปลี่ยนผ่านไม่ใช่เพียงแค่การเป็นนักอนุรักษ์นิยม แต่หมายถึงต้นทุนค่าพลังงานที่ต่ำกว่า
สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ การเตรียมรับมือกับอนาคต ผู้กำหนดนโยบายหรือนักการเมืองจากหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศด้อยพัฒนาหรือกำลังพัฒนา ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย ส่วนใหญ่ยังมองภาพไม่ออกว่า อะไรกำลังจะเกิดขึ้นกับโลกในอนาคตอันใกล้
https://www.ippr.org/research/publications/age-of-environmental-breakdown