
เมื่อวันเสาร์ที่ 25-07-2020 The New York Times รายงานการสัมภาษณ์พิเศษ อีลอน มัสก์ เขาพูดถึง AI อีกครั้ง และตอกย้ำให้ระวังว่า มันอาจส่งผลร้ายต่อมนุษยชาติ โดยกล่าวถึง DeepMind ของ Google ว่า เขาเป็นห่วงมากที่สุด
อีลอน มัสก์ มีส่วนร่วมในการให้เงินทุนสนับสนุน DeepMind ในช่วงเริ่มก่อตั้ง แต่เมื่อวันที่ 26-01-2014 กูเกิลได้ประกาศการเข้าครอบครอง DeepMind ด้วยเงิน 500 ล้านดอลลาร์
จุดเริ่มต้นของ DeepMind มาจากการเอา AI มาเล่นเกมที่มีอยู่ในโลก สอนให้มันกลายเป็นผู้เล่นเกมที่เก่งที่สุดในโลก
DeepMind เริ่มโด่งดังเป็นที่รู้จักทั่วโลกในปี 2016 เมื่อพัฒนาโปรแกรม AlphaGo ที่สามารถเอาชนะแชมป์โลกเกมโกะหรือหมากล้อม ซึ่งเป็นเกมที่มีความซับซ้อนมาก และทำให้นักเทคโนโลยีในประเทศจีนตื่นตัว จนกลายเป็นการแข่งขันเทคโนโลยี AI ที่รุนแรงระหว่าง จีนและสหรัฐอเมริกา
มีการเปรียบเทียบว่า สิ่งที่ AI ของ DeepMind กำลังพัฒนาและเรียนรู้จากเกมต่างๆ คือ หนทางเอาชนะสงคราม และวันหนึ่งมันอาจหันมาเล่นงานมนุษย์ซึ่งเป็นผู้สร้างมัน
DeepMind ยังมีโครงการที่พัฒนาเกี่ยวกับเกมอย่างต่อเนื่อง แต่วันนี้เป็นส่วนหนึ่งของ Google Health ที่เอา AI ไปใช้ประโยชน์ในด้านการดูแลสุขภาพหลายอย่าง เช่น
-การให้บริการทางการแพทย์แบบโมบาย
-สแกนตรวจวินิจฉัยโรคตา
-ทำหน้าที่เป็นนักรังสีวิทยาวินิจฉัยโรคมะเร็ง คาดคะเนได้ว่าใครมีโอกาสจะเป็นมะเร็ง
-คาดการณ์อาการของคนไข้ที่มารักษาว่า จะมีอาการอะไรต่อไป ควรรักษาด้วยวิธีไหน เมื่อไหร่จะหายป่วย มีโอกาสกลับมาป่วยอีกหรือตายมากน้อยแค่ไหน
เรื่องราวเกี่ยวกับ AI ที่ได้ดูจากหนังฮอลลีวูด และจินตนาการให้เห็นความเลวร้ายของ AI ในโลกอนาคต ยังดูห่างไกลจากความเป็นจริงเมื่อพิจารณาถึงเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบัน
ในปี 2017 มีนักวิจัยทำการทดสอบไอคิวของ AI ที่มีอยู่ในตลาด เช่น Google AI, Siri ของ Apple และ AI ของอีกหลายๆค่าย พบว่า.. ไอคิวของ AI มีประมาณ 47 เทียบได้กับเด็ก 6 ขวบที่กำลังเรียนอยู่ชั้นป. 1 ค่าเฉลี่ยของไอคิวผู้ใหญ่ทั่วไปอยู่ที่ประมาณ 100
โลกรู้จัก AI มาตั้งแต่ปี 1956 แต่มีพัฒนาการที่ช้ามาก กว่าจะเห็นหนทางนำมาใช้ได้จริงก็หลังจากการค้นพบ Deep Learning ในปี 1986 และเริ่มมีการนำ AI มาใช้ในวงกว้างมากขึ้นในช่วงสิบปีที่ผ่านมานี้เอง
เหตุผลหลักที่ทำให้ AI มีประสิทธิภาพมากขึ้นในปัจจุบัน มาจากความก้าวหน้าทางด้านฮาร์ดแวร์ที่มีเพิ่มขึ้น และราคาถูกลงต่อเนื่องทุกปี
AI ที่มีใช้อยู่ในวันนี้ จัดเป็น Weak AI หรือ Narrow AI สามารถทำงานได้จำกัด มีสิ่งที่เป็นความชำนาญเพียงเรื่องเดียวโดยเฉพาะเท่านั้น
ความเก่งของ AI ที่คิดเองเป็นเหมือนในหนังฮอลลีวูด มีชื่อเรียกหลายอย่างว่า Strong AI, Full AI หรือ Artificial General Intelligence (AGI)
ในปัจจุบันมีองค์กรและหน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชนของทั่วโลกมากกว่า 40 แห่งกำลังทำการศึกษาวิจัยพัฒนา AGI
แต่มี 3 แห่งที่ใหญ่ที่สุด มีทุนมากที่สุด และวิจัยอย่างจริงจังมากที่สุด คือ DeepMind, Human Brain Project และ OpenAI
อีลอน มัสก์ มีส่วนร่วมในการก่อตั้งและสนับสนุนเงินทุนให้กับ DeepMind และ OpenAI
เป้าหมายสูงสุดของนักวิจัย คือ ทำให้ AI รู้จักคิด รู้ถูกรู้ผิด มีจิตใจ คิดสร้างสรรค์ได้เหมือนคน สิ่งที่กำลังวิจัยพัฒนา เช่น
-ความมีเหตุผล รู้วิธีใช้กลยุทธ์ในการทำงาน แก้ปริศนาได้ สามารถตัดสินใจภายใต้ความไม่แน่นอน
-เป็น AI ที่มีความรู้แตกฉาน และรวมถึงความรู้ความเข้าใจที่มีสามัญสำนึก
-วางแผนล่วงหน้าได้
-เรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง
-สื่อสารกับผู้คนได้ด้วยภาษาที่ดูเป็นธรรมชาติ
-สามารถรวมรวมเอาทักษะทุกอย่างที่มีเอาไปใช้เพื่อทำให้บรรลุเป้าหมายทั่วไปได้
โดยรวมแล้ว คือ ทำให้ AI เหมือนคนมากที่สุด แต่มีประสิทธิภาพในการทำงานเหนือกว่าคน โหลดรับความรู้ได้มากกว่าคน แยกแยะและจดจำได้ดีกว่าคน
นักเทคโนโลยีที่เชี่ยวชาญด้าน AI หลายคน ประเมินว่า กว่า AGI จะใช้การได้จริง คงต้องรออีกนานหลายสิบปี อาจเป็นช่วงหลังปี 2040 ไปแล้ว
แต่สำหรับ อีลอน มัสก์ ซึ่งวันนี้กำลังพัฒนา AI สำหรับรถไร้คนขับ เขาประเมินว่าอีก 5 ปีจากวันนี้ จะมี AGI ที่มีจิตใจ สามารถคิดแบบสร้างสรรค์เหมือนคน
อีลอน มัสก์ เคยออกมาแสดงความคิดเห็นหลายครั้งให้รัฐบาลในประเทศต่างๆออกกฎหมายควบคุมการพัฒนา AI ไม่ให้มันเลยเถิดจนกลายเป็นภัยต่อมนุษย์
แม้ว่า อีลอน มัสก์ จะวาดภาพด้านลบให้กับ AI เอาไว้มาก แต่เขาไม่คิดว่า AI จะทำลายล้างให้มนุษย์หมดไปจากโลก แต่จะดูแลมนุษย์เหมือนเป็นหมาหรือแมวแบบที่เป็นสัตว์เลี้ยงของมัน…