การเปลี่ยนความเชื่อคน ทำได้ยาก บางคนกำลังใช้เหตุผลที่ไม่มีเหตุผล มีอคติ ไร้สติปัญญา ขัดผลประโยชน์

บทความ : รศ. ดร.พนา ทองมีอาคม

การรับรู้เป็นเรื่องที่มีอคติ

นักวิชาการพบมานานแล้วว่า คนเราไม่ได้เปิดรับข้อมูลข่าวสารทุกชนิดแบบปูพรม ทุกคนมีความลำเอียงในการเปิดรับสื่อ เริ่มตั้งแต่เราเลือกเปิดรับ (Selective Exposure) เช่น เลือกชมทีวีแทนอ่านหนังสือ และเลือกเนื้อหาที่จะชมรายการบันเทิงแทนข่าวสาร แล้วยังอาจเจาะจงลงไปอีกว่าจะรับจากใคร ผู้ประกาศ ดารา นักร้องคนไหน

เมื่อ 60-70 ปีมาแล้วมีการศึกษาพบว่า คนเลือกเปิดรับสื่อไปตามอคติและความโน้มเอียงของตน โดยเฉพาะเรื่องการเมือง ตามรสนิยมที่ตัวชอบ เช่น คนชอบประชาธิปัตย์ก็จะเลือกฟังแต่ประชาธิปัตย์ คนชอบเพื่อไทยก็จะเลือกฟังเพื่อไทย จากการศึกษาเรื่องทัศนคติและการโน้มน้าวใจพบว่า คนเรามักหลีกเลี่ยงสิ่งที่ขัดกับทัศนคติและความรู้เดิมที่ตนมี และจะแสวงหาเรื่องราวที่สอดคล้องกับความเชื่อเดิมที่มีอยู่

พูดแบบพระก็คงต้องว่า คนยึดมั่นตัวกูของกู ปกป้องความเชื่อและค่านิยมที่สั่งสมเป็นตัวตนแต่เดิมมา

กระบวนการเลือกเปิดรับสื่อนี้ ยังครอบคลุมไปถึงการเลือกสนใจ (Selective Attention) และการเลือกจดจำ (Selective Retention) ดังนั้นการจะโน้มน้าวและเปลี่ยนคนเรื่องการเมืองจึงไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่ต้องแปลกใจที่สังคมเราวันนี้จะเห็นฝักฝ่ายการเมืองที่ไม่ยอมรับรู้ ไม่รับฟัง มุมมองของฝ่ายตรงข้าม บ่อยครั้งเห็นการบอกปัดด้วยเหตุผลที่ไม่เป็นเหตุผลหรือไม่มีตรรกะ

อย่างไรก็ตามกระบวนการเปิดรับข่าวสารนี้ มันไม่ตรงไปตรงมาแบบเถรตรง ท่านว่าจิตมนุษย์นี้ไซร้ยากแท้หยั่งถึง เมื่อข้อมูลหลักฐานน้อยหรือไม่ชัดเจน กลไกการเลือกเปิดรับและปฏิเสธความจริงก็จะทำงานได้ผลมาก

แต่ในสังคมใหญ่ ข่าวสารที่รับแบบบังเอิญหรือเลี่ยงไม่ได้ก็มี ถ้าเผชิญกับข้อมูลหลักฐานท่วมท้นก็อาจต้องจนมุม ยอมรับ เปลี่ยนความเชื่อ หลบไป หรือเปลี่ยนเรื่อง

เรื่องจึงไม่ง่าย ๆ ตรง ๆ เสมอไป

เพราะยังมีเรื่องที่ประเด็นไม่ชัดแจ้ง ทั้งเรื่องเชื่อเร็วเชื่อช้าของคน อคติเก่า สติปัญญา ความสามารถคิดวิเคราะห์ ความสำคัญของเรื่อง และผลประโยชน์

สิ่งเหล่านี้เมื่อเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นปัจจัยแทรก ก็ทำให้คาดการณ์ผลได้ยาก

พ้นยุคสื่อสารมวลชนมาถึงยุคของสื่อใหม่ที่เป็นแบบโครงข่าย

แนวความคิดเรื่องการเลือกเปิดรับได้รับความสนใจขึ้นอีกครั้ง เพราะธรรมชาติการสื่อสารแบบโครงข่าย ผู้ใช้สื่อเลือกเจาะเนื้อหาที่ตรงกับความสนใจหรือความเชื่อแคบ ๆ ของคนได้ง่าย ในขณะที่ผลของการเปิดรับแบบไม่ตั้งใจกลับลดลงเนื่องจากสื่อสารแบบมวลชนมีบทบาทน้อยลง

นี่คือสิ่งที่เราเรียกกันในยุคนี้ว่า Confirmation Bias ความลำเอียงจากการแสวงหาแต่เรื่องที่สอดคล้อง ยืนยันว่าตรงกับความเชื่อของตัว

ในกลุ่มการสื่อสารสังคมบนโครงข่าย สมาชิกกลุ่มสมัครใจร่วมด้วยตัวเอง ดังนั้นความคิดเห็นในกลุ่มจึงมีลักษณะคล้ายคลึงกัน เสียงส่วนใหญ่ในกลุ่ม จะกำหนดทิศทางในการคุย การเผยแพร่ข่าวสารความรู้จะสอดคล้องกับทิศทางของกลุ่มเสมือนกลั่นกรองกันเองเป็นธรรมชาติ

ผู้ที่มีความเห็นต่าง โดยเฉพาะประเด็นหนัก ๆ ทางการเมืองมักจะถูกกลุ่มบล็อกออกหรือไม่ก็ถอนตัวออกไปเอง ในช่วงการเมืองร้อนแรงแบบปัจจุบัน เราจะเห็นปรากฏการณ์แบบนี้ได้ง่าย

กลุ่มที่รวมกันด้วยจุดประสงค์อื่น เช่น เพื่อนนักเรียนเก่า เห็นมีหลายกลุ่มที่ถึงกับวงแตก กลุ่มที่แยกกันไม่ได้ เช่น กลุ่มญาติ การพูดคุยก็จะเหินห่าง

เมื่อมีการแยกทางกัน Unfriended, Blocked, Unfollowed ผู้ที่เหลืออยู่ก็จะมีแต่คนคิดเหมือน ๆ กัน Confirmation Bias ก็มีแต่จะมากขึ้น ๆ ที่สุดกลายเป็นการคิดลำเอียงแบบ Groupthink คิดตามกัน เชื่อมั่นตามกลุ่ม และปกป้องกลุ่ม

ได้เคยกล่าวถึงเว็บ 3.0 ที่เป็นเว็บฉลาดมาบ้างแล้ว เว็บในยุคนี้รู้จักภาษาและเป็นปัญญาประดิษฐ์ สามารถจดจำและสังเคราะห์ความสนใจความต้องการของผู้ใช้แต่ละคนได้ ขณะเดียวกันก็สามารถเรียนรู้ความต้องการจากการวิเคราะห์ผู้คนจำนวนมากที่สนใจแบบเดียวกัน

เว็บสามารถประมวลความต้องการ เช่น เสนอแนะเพื่อน ข่าวสาร หรือเรื่องต่าง ๆ ให้ได้ ทั้งยังสามารถเชื่อมโยงไปสู่เว็บต่าง ๆ เองได้มากมายด้วย

เว็บสมัยนี้จึงมีความสามารถเลือกเปิดรับข้อมูลข่าวสาร รายงานเรื่องให้ผู้ใช้เองได้ ซึ่งในทางหนึ่งเป็นการช่วยเหลือและให้ความสะดวก แต่ในอีกทางหนึ่งก็เป็นการตอกย้ำอคติและความลำเอียงของคนกลายเป็น Confirmation Bias อย่างหนึ่งที่ตอบสนองความเป็นตัวตนของบุคคล

ว่าไปแล้ว Selective Exposure และ Confirmation Bias มองในมุมหนึ่งก็คล้ายทิฐิมานะ หรือ Ego ของคนนั่นเอง

ยิ่งอายุมาก ชื่อเสียงมาก ยศมาก ยิ่งดึงดันมีตัวตน..เปลี่ยนยาก แม้มีข้อมูลมีวิทยาการใหม่ ๆ โลกเปลี่ยนแปลงไปไกลแล้วคนก็ยังปฏิเสธ จะดึงดันยึดความรู้ความเชื่อเดิม ๆ ทำแบบเดิม ๆ จนไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงใด ๆ

https://www.facebook.com/pana.thongmeearkom

Leave a Reply