ภาพแอนนิเมชั่นจักรพรรดิซ่งไท่จู่ สร้างจากรูปวาด จากไปนับพันปี แต่เหมือนกลับมามีชีวิตใหม่ ใช้เทคโนโลยี AI สร้างโดยนักพัฒนาวิดีโอเกม

รูปวาดด้านขวาเป็นภาพของจักรพรรดิซ่งไท่จู่ ผู้ก่อตั้งราชวงศ์ ซ่ง ของจีนในปี ค.ศ. 960 เป็นภาพเขียนโบราณที่เขียนไว้นานกว่าหนึ่งพันปี

ส่วนภาพด้านซ้ายเป็นแอนนิเมชั่นที่ดูเหมือนคนจริง สร้างโดย AI

Hu Wengu หรือ หู เวิ่นกู เป็นนักพัฒนาวิดีโอเกมอิสระชาวจีนอายุ 29 ปี เรียนจบด้าน Computer Art จาก School of Visual Art ใน New York ทำงานมานานกว่า 10 ปี พัฒนาสร้างเกมมาแล้วมากกว่า 50 เกม และมีบางเกมที่มีการดาวน์โหลดในประเทศจีนมากกว่าหนึ่งแสนครั้ง

วันนี้ หู เวิ่นกู มีโครงการใหม่ เอาภาพเขียนโบราณที่เป็นภาพประวัติศาสตร์อายุมากกว่าหนึ่งพันปีของจักรพรรดิจีน ราชวงศ์ซ่ง ราชวงศ์หมิง และราชวงค์ชิง มาแปลงเป็นภาพแอนนิเมชั่นที่ดูเหมือนคนจริง

การทำงานของ หู เวิ่นกู เริ่มต้นจากการค้นคว้าหาวิธีทำด้วยตนเองจากอินเตอร์เน็ต

เริ่มจากการใช้โอเพ่นซอร์ซ Machine Learning ที่ค้นหาได้ใน Baidu คือ PaddleGAN เป็นเครื่องมือออนไลน์ที่เอามาช่วยปรับเปลี่ยนรูปภาพเขียนหน้าจักรพรรดิ หลังจากนั้นใช้ AI Studio มาจับภาพให้ดูมีชีวิตชีวา และพัฒนาต่อให้ดูสมจริงมากขึ้นโดยใช้โปรแกรม SeetaFace ซึ่งเป็นโอเพ่นซอร์ซเช่นกัน

มีหนังทีวีซีรีย์จีนหลายเรื่องที่เป็นเรื่องราวประวัติศาสตร์จีน หู เวิ่นกู ได้เอาหน้าของดาราทีวีที่เป็นคนจริง มาเปรียบเทียบกับหน้าแอนนิเมชั่นที่เขาสร้างขึ้นโดยอิงจากภาพวาดโบราณ และประเมินว่ามีระดับความคล้ายคลึงกันมากน้อยแค่ ดาราที่แสดงเป็นจักรพรรดิซ่งไท่จู่ ได้คะแนนความเหมือน 40.42%

วิดีโอของ หู เวิ่นกู กลายเป็นไวรัลในโซเชียลมีเดียจีน ใน Weibo มีคนดูมากถึง 48 ล้านวิว และมีการร่วมแสดงความคิดเห็นมากกว่า 4,000 คอมเม้นท์

มีหลายคนแนะนำว่า นอกจากสร้างภาพเหมือนคนจริงของจักรพรรดิในอดีตแล้ว น่าจะสร้างภาพของเหล่าโฉมงามที่มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์จีนมาให้ดูด้วย

ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่า ภาพแอนนิเมชั่นที่ดูเหมือนคนจริงที่สร้างมาจากรูปวาด จะใกล้เคียงกับหน้าตาของคนจริงตอนที่มีชีวิตอยู่มากน้อยแค่ไหน เพราะมันมีมุมมองของศิลปินผู้วาดใส่เข้าไปด้วย ซึ่งบางครั้งอาจแตกต่างจากความเป็นจริงอยู่บ้าง

หู เวิ่นกู มีความมุ่งมั่นจะเป็นคนสร้างเกมมาตั้งแต่เด็ก และวันนี้เขาได้กลายเป็นนักพัฒนาเกมตามความฝันแล้ว เขาให้ความเห็นเกี่ยวกับอาชีพของเขาไว้น่าสนใจมากว่า…

“จากประสบการณ์ส่วนตัวของผม เกมเป็นสื่อแห่งความสวยงาม”

“ยิ่งไปกว่านั้น เกมสามารถทำให้คนมีส่วนร่วมเข้าไปเล่นได้จริง ซึ่งไม่เหมือนงานศิลปะส่วนใหญ่ที่ไม่สามารถสัมผัสได้”

“การเขียนโปรแกรม เป็นโครงสร้าง มันเป็นโครงกระดูก”

“การออกแบบงานศิลปะ คือ เลือดเนื้อ”

“ดนตรี และเสียง สร้างบรรยากาศ”

“และในท้ายที่สุด ผู้ออกแบบเกม คือ ผู้ทำให้งานทั้งหมดมีจิตวิญญาณขึ้นมา”

ในอนาคต เราอาจได้เห็นจักรพรรดิจีนที่จากโลกไปนานกว่าหนึ่งพันปี กลับมาดูเหมือนมีชีวิตในปัจจุบัน

จะได้เห็นบุคคลที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ถ่ายทอดความรู้สึกของพวกเขาในแบบที่เข้าใจได้ง่ายขึ้น อาจได้เห็นในเกมหรือในหนังที่ดูสมจริงมากๆ….

https://www.scmp.com/tech/article/3112919/video-game-developer-uses-ai-recreate-faces-ancient-chinese-emperors

Leave a Reply