
WHO หรือ องค์การอนามัยโลกแนะนำประชาชนทั่วโลกว่า ถ้ามีวัคซีนชนิดไหนให้ฉีด ขอให้รีบไปฉีด แต่ถ้าใครอยู่ในประเทศที่มีวัคซีนให้เลือกมากกว่า 1 ชนิด ถือว่าคุณโชคดี
ในปัจจุบัน วัคซีน ยังมีไม่เพียงพอสำหรับทุกคน เมื่อคุณมีโอกาสที่จะได้ฉีด ควรยอมฉีดสิ่งที่ได้รับ
ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง เช่น สูงอายุ มีโรคเรื้อรัง ควรได้รับการฉีดวัคซีนเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
องค์การอนามัยโลกกำลังรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผลข้างเคียงของวัคซีนแต่ละชนิด และพบสิ่งที่ผู้คนกังวล คือ Blood Clot หรือ ลิ่มเลือด
WHO กำลังพิจารณาปัญหาเรื่องลิ่มเลือดอย่างรอบคอบ และศึกษาอย่างจริงจัง เท่าที่มีข้อมูลอยู่ในปัจจุบัน มันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยากมาก
สิ่งสำคัญที่ผู้คนต้องตระหนัก คือ พวกเราอยู่ท่ามกลางการแพร่ระบาด และทุกคนมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 เมื่อเอาความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากผลข้างเคียงการฉีดวัคซีนซึ่งมีน้อยมากๆ มาเทียบกันแล้วมันเป็นสิ่งที่ควรทำ
ประเมินจากมุมมองของตัวเลขความเสี่ยง ประโยชน์ที่วัคซีนมอบให้ ถือว่ามีความเสี่ยงเพียงเล็กน้อย
สรุป คือ WHO ติดตามข้อมูลความเสี่ยงอย่างใกล้ชิด ถ้าวัคซีนชนิดไหนได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก ต้องถือว่าเป็นวัคซีนที่ใช้ได้ และหากมีการศึกษาที่ชี้ชัดอะไรออกมา จะมีรายงานให้คนทั่วโลกทราบทันที
การสร้าง Herd Immunity หรือภูมิคุ้มกันหมู่ในประเทศไทย ยังต้องใช้เวลาอีกนาน
บุคลากรสาธารณสุขและบุคลากรด่านหน้าประมาณ 3 ล้านคน เริ่มฉีดวัคซีนกันแล้ว อีก 1-2 เดือนจากนี้น่าจะฉีดได้ครบ
คนแก่และคนมีโรคเรื้อรัง 16 ล้านคน จะเริ่มได้ฉีดในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2564
คนไทยทั่วไปอีก 31 ล้านคน จะเริ่มได้ฉีดเดือน สิงหาคม-กันยายน 2564
ถ้าการฉีดวัคซีนให้คนไทยทั้งประเทศ เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 เราจะเริ่มได้เห็น Herd Immunity ในประเทศไทย ซึ่งหมายถึงการมีภูมิคุ้มกันหมู่ประมาณ 60-70 เปอร์เซ็นต์ของประชากร ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้สภาพเศรษฐกิจไทยมีโอกาสกลับไปเป็นปกติ
แต่ยังมีตัวแปรอีกหลายอย่างที่อาจทำให้ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เช่น
หาวัคซีนมาได้ไม่เพียงพอ
วัคซีนที่ผลิตมา มีประสิทธิภาพไม่ดีพอ อาจมีการดื้อยาเพราะมีการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19
จำนวนการฉีดวัคซีน ทำได้น้อยและช้ากว่าเป้าหมาย
มีคนไม่ยอมฉีดวัคซีนจำนวนมาก
ในวันนี้ ต้องขอเชื่อไว้ก่อนว่า รัฐบาลไทยจะสามารถทำทุกอย่างได้ตามเป้า ปลายปีนี้เราจะเริ่มได้เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์กันบ้างแล้ว
วันขึ้นปีใหม่ 2565 ขอให้ได้ฉลองปีใหม่แบบชื่นมื่นกันทั้งประเทศ
เรื่องสำคัญที่เป็นปัญหา คือ พวกเราคนไทยทุกคนต้องพยายามเอาตัวรอดให้ได้
พฤษภาคม-มิถุนายน-กรกฎาคม-สิงหาคม-กันยายน นานอีกตั้ง 5 เดือน
อาจได้เจอการระบาดโควิด-19 ระรอก 4, ระรอก 5, ระรอก 6, ระรอก 7…..
มันเป็นสิ่งที่เคยเจอมาแล้ว ถ้าเจออีก ก็ไม่ใช่เรื่องที่เกินคาดการณ์…..