IMF เตือน 4 ประเทศอาเซียนมีหนี้ท่วมเหมือนศรีลังกา วิกฤติเศรษฐกิจมีสาเหตุจาก โควิด สงคราม คอรัปชั่น              

IMF ชี้ให้เห็นปัญหาเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นทั่วโลกว่าเกิดจาก การแพร่ระบาดของโควิด-19 และสงครามการรุกรานยูเครนโดยรัสเซีย

IMF กล่าวโทษวิกฤติเศรษฐกิจศรีลังกาที่เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นถึง 54.6% ว่าเป็นเพราะ “การทุจริตคอรัปชั่น”

มีการเตือนถึงประเทศในอาเซียน 4 ประเทศที่จะเจอปัญหาแบบเดียวกับศรีลังกา คือ ปากีสถาน บังกลาเทศ มัลดีฟส์ และ ลาว

ปากีสถาน เพิ่งเลิกอุดหนุนน้ำมันเชื้อเพลิง ทำให้ราคาน้ำมันขึ้นถึง 90% เงินเฟ้อแตะ 21.3% ซึ่งสูงสุดในรอบ 13 ปี ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศต่ำมาก ขณะนี้อยู่ในช่วงพูดคุยขอความช่วยเหลือกับไอเอ็มเอฟ รัฐบาลปากีสถานกำลังหาวิธีความคุมค่าใช้จ่ายของประเทศ

บังกลาเทศ มีปัญหาทุนสำรองเงินตราต่างประเทศต่ำเหมือนปากีสถาน ขณะนี้อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 7.42% บังกลาเทศมีการกู้ยืมเงินต่างประเทศมากมายติดต่อกันมาหลายปี เศรษฐกิจเปราะบางมาก ขาดดุลการค้าต่อเนื่อง บังกลาเทศกำลังแก้ปัญหาโดย ควบคุมการนำเข้า ลดการเดินทางไปต่างประเทศของข้าราชการ

มัลดีฟส์ มีหนี้สาธารณะพุ่งขึ้นกว่า 100% ของ GDP ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ เศรษฐกิจกระจายตัวไม่ทั่วถึง รวยกระจุกจนกระจาย JPMorgan คาดการณ์ว่าภายในสิ้นปี 2023 มัลดิฟส์จะผิดนัดชำระหนี้ของประเทศ

ลาว มีแนวโน้มที่จะผิดนัดชำระหนี้เงินกู้ต่างประเทศสูงขึ้นหลังสงครามรัสเซียยูเครน หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นเป็น 88% ของ GDP ค่าเงินลาวอ่อนลงมาก ราคาค่าอาหารสูงขึ้นมาก คนลาวไม่มีเงินพอจ่ายบิลค่าใช้จ่ายต่างๆ เดือนมิถุนายน 2022 ลาวถูก Moody ดาวน์เกรด ใครให้ลาวกู้เงิน จะมีความเสี่ยงสูงมาก ลาวกำลังมองหาความช่วยเหลือจากจีน

IMF ไม่ได้กล่าวถึงประเทศพม่า อาจเป็นเพราะการปิดประเทศ และเผด็จการพม่าไม่มีข้อมูลอะไรเปิดเผยออกมา แต่พม่าคงมีปัญหาไม่ต่างจาก 4 ประเทศในอาเซียน วันนี้แบ็งก์ชาติพม่าสั่งธุรกิจและผู้กู้รายย่อยระงับการชำระหนี้ต่างประเทศ ทุนสำรองพม่ากำลังลดลงต่อเนื่อง วิกฤติเศรษฐกิจพม่าคงเห็นภาพชัดขึ้นในเร็วๆนี้

สำหรับประเทศไทยวันนี้ ยังไม่เข้าขั้นเป็นวิกฤติเศรษฐกิจเหมือน ศรีลังกา ปากีสถาน บังกลาเทศ มัลดีฟส์ ลาว พม่า แต่ถ้าวิเคราะห์ถึงปัญหาที่ไทยมี ก็เจอปัญหาแบบเดียวกัน

ธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินว่า ปี 2022 อัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยจะอยู่ที่ 6.2%

ศรีลังกา มัลดิฟส์ มีปัญหาเรื่องนักท่องเที่ยวลดลง ประเทศไทยที่เคยมีนักท่องเที่ยวปีละมากกว่า 30 ล้านคน ในปี 2022 อาจลดลงเหลือไม่เกิน 10 ล้านคน

8 ปีที่ผ่านมานี้ ประเทศไทยกู้เงินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากยังอยู่ในทิศทางเดิมและรายได้ของประเทศยังไม่ดีขึ้น ประเทศไทยอาจมีหนี้ท่วมเช่นกัน แต่ยังดีที่ไทยมีเงินทุนสำรองเงินตราต่างประเทศค่อนข้างสูง

หนี้สาธารณะประเทศไทยที่เคยกำหนดเพดานไว้ที่ 60% แต่เดือนกันยายน 2021 รัฐบาลไทยแก้กฎหมายให้เพิ่มได้เป็น 70% ของจีดีพี หากหนี้ประเทศไทยชนเพดานอีกครั้ง ก็คงต้องแก้กฎหมายอีกในอนาคต

ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ของประเทศไทยมีสูงมาก การสำรวจของ Credit Suisse บางปี ไทยมีความเหลื่อมล้ำติดอันดับหนึ่งของโลก ประชากรไทย 1% ครองความมั่งคั่งมากกว่า 50% ของสินทรัพย์ทั้งประเทศ รวยกระจุกจนกระจายของไทย ยังไม่เห็นแนวโน้มที่จะลดลง

รัฐบาลไทยที่มีฉากหน้าเป็นประชาธิปไตย แต่ในความเป็นจริงเผด็จการทหารที่ยึดอำนาจมาตั้งแต่ปี 2557 ยังมี 250 สว. ที่คอยค้ำจุนให้มีอำนาจอยู่ต่อไปได้ ดูแล้วคล้ายกับการยึดอำนาจของทหารในพม่า

มีตัวอย่างของประเทศที่เจอวิกฤติเศรษฐกิจในหลายประเทศอยู่แล้ว ปัญหาเกิดจากอะไรก็เห็นได้ชัดเจน

ประเทศไทยวันนี้ยังมีปัญหาไม่รุนแรงเท่าหลายประเทศ ถ้าผู้บริหารประเทศมีความสามารถจริง ตั้งใจแก้วิกฤติอย่างจริงจัง ประเทศไทยอาจผ่านวิกฤติครั้งนี้ได้โดยไม่บอบช้ำมากนัก….

https://sea.mashable.com/life/20863/imf-warns-high-debt-asian-nations-could-share-sri-lankas-fate-here-are-4-of-them

https://www.bot.or.th/Thai/PressandSpeeches/Press/2022/Pages/n3165.aspx

Leave a Reply