
วันพฤหัสฯที่ 17-11-2022 ธุรกิจ 4.0 มีโอกาสได้เข้าเยี่ยมชมสำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เห็นภาพลักษณ์ใหม่ของเทคโนโลยี 4.0
ศ.ดร.อรัญ หาญสืบสาย (คนด้านขวา) ผู้บริหารสำนักพิมพ์จุฬาฯ อธิบายให้เห็นภาพการปรับตัวของการพิมพ์ในยุค 4.0 อย่างชัดเจน
คนทั่วไปมีความเข้าใจว่าอุตสาหกรรมการพิมพ์กำลังมีขนาดตลาดหดตัวอย่างหนัก ซึ่งอาจเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน
ความต้องการหนังสือ หรือสิ่งพิมพ์ต่างๆยังมีอยู่จำนวนมาก แต่โรงพิมพ์ต่างๆต้องพร้อมปรับตัวสำหรับตลาดที่เปลี่ยนไป
สำนักพิมพ์จุฬาฯ ได้ปรับตัวให้เป็นต้นแบบของอุตสาหกรรมการพิมพ์ยุค Digital Disruption
ระบบการพิมพ์แบบดั้งเดิมที่ใช้เครื่องพิมพ์ออฟเซตที่เหมาะสำหรับการพิมพ์จำนวนมากๆเพื่อทำให้ต้นทุนต่อหน่วยต่ำ ไม่เหมาะสมกับงานพิมพ์ทุกประเภท
การพิมพ์หนังสือครั้งละหลายพันเล่ม หรือนับหมื่นเล่ม โดยหวังให้ต้นทุนการพิมพ์ต่อหน่วยต่ำ หลายๆครั้งได้กลายเป็นปัญหาพิมพ์เกินความต้องการที่แท้จริง ทำให้มีหนังสือเหลือจากการจัดจำหน่ายจำนวนมาก กลายเป็นต้นทุนสูญเปล่า เป็นขยะล้นโลก
สำนักพิมพ์จุฬาฯ ได้นำเครื่องพิมพ์ระบบอิงก์เจ็ตป้อนม้วนความเร็วสูง เข้ามาใช้เป็นที่แรกในประเทศไทย สามารถให้บริการจัดพิมพ์เอกสารสิ่งพิมพ์ต่างๆอย่างมีคุณภาพ ได้มาตรฐานสากล และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ระบบอิงก์เจ็ต เป็นเทคโนโลยีการพิมพ์ที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว และมีโอกาสสร้างนวกรรมใหม่ๆให้กับผู้ประกอบการได้ไม่ยาก ใช้หมึกฐานน้ำที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ใช้พลังงานไฟฟ้าต่ำ ไม่มีการสูญเสียกระดาษในระหว่างพิมพ์ ไม่ต้องใช้ Solvent ในการล้างหมึก
ความต้องการหนังสือและสิ่งพิมพ์ต่างๆในตลาดยังมีอยู่เสมอ แต่รูปแบบมีการเปลี่ยนแปลง การพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ระบบอิงก์เจ็ตครั้งละน้อยๆและมีต้นทุนต่ำ ได้เข้ามาแก้ปัญหา Pain Point ของความต้องการสิ่งพิมพ์ได้จริง
หากพิมพ์ด้วยระบบอิงก์เจ็ต ต้นทุนต่อหน่วยของหนังสือ 200 เล่ม หรือ 1,000 เล่ม จะไม่มีความแตกต่างกัน สามารถสั่งพิมพ์ครั้งละน้อยๆได้ ถ้าต้องการเพิ่มค่อยมาสั่งพิมพ์เพิ่มได้
ส่วนเรื่องความเร็วนั้น อาจารย์อรัญ เปิดเผยว่า… สั่งพิมพ์แล้ว นั่งรอรับงานไปได้เลย!!!