
วันที่ 5-01-2021 ไอเอ็มเอฟ ออกมาคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จะกลับสู่ภาวะปกติเต็มรูปแบบทั่วโลกในช่วงปลายปี 2022
วัคซีนที่เริ่มนำออกมาใช้กันแล้ว คือ หนทางแก้ปัญหา แต่ละประเทศจะฟื้นตัวไม่พร้อมกัน ประเทศที่พัฒนาแล้วจะฟื้นตัวได้เร็วกว่า
ประเทศใหญ่ๆ ที่จัดเป็นประเทศพัฒนา GDP จะเริ่มโตเป็นปกติอีกครั้งในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2021 แต่ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับความเร็วในกระจายของวัคซีน
ตอนนี้เหมือนเป็นการแข่งขันระหว่าง โควิด-19 กับ วัคซีน
ประเทศจีนมีแนวทางจัดการกับปัญหาโควิด-19 ได้ดีกว่าประเทศอื่น ประเทศทางลาตินอเมริกาจัดการได้ค่อนข้างแย่
เศรษฐกิจในอเมริกาและยุโรป มีแนวโน้มจะกลับสู่ภาวะปกติและเติบโตได้อีกครั้งช่วงกลางปี 2021
การวิเคราะห์จากไอเอ็มเอฟ คงทำให้พวกเราในประเทศไทยเห็นภาพอนาคตได้ชัดเจนขึ้น ทำให้คาดเดาได้ว่าจะเจอกับความยากลำบากอีกนานแค่ไหน จะต้องเตรียมตัวอยู่ให้รอดไปก่อนในช่วงแย่ๆกันต่อไปอีกกี่เดือน กี่ปี!!!
อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นหนึ่งในรายได้หลักของไทยมานาน ปี 2021 คงดีขึ้นยาก ผู้ประกอบการเดิมคงต้องหาทางประคองให้ตัวเองอยู่รอดต่อไปในปีนี้ก่อน ถ้าสายป่านยาวถึงสิ้นปี 2021 ก็มีหวังได้เริ่มต้นกันใหม่อีกครั้งในปี 2022 แต่ยังประเมินในตอนนี้ได้ยากว่า จะกลับมาดีเหมือนเดิมเมื่อไหร่ พฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวออกนอกประเทศของคนส่วนใหญ่ในโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนจีนที่เป็นลูกค้ากลุ่มใหญ่ของไทย ยังรักที่จะมาเที่ยวประเทศไทยเหมือนเดิมหรือไม่?
สำหรับคนทำงานที่เคยมีรายได้ดีจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมานาน ส่วนใหญ่คงต้องหาอาชีพใหม่ทำในช่วงนี้ไปก่อน รอถึงปี 2022 ถ้ามันดีจริงค่อยกลับไปทำงานเดิม หรืออาจได้หนทางดีๆในอาชีพใหม่ที่ทำในช่วงวิกฤตินี้ ก็ไม่ต้องกลับไปทำงานเดิมอีกก็ได้
อุตสาหกรรมส่งออกของไทยที่เคยทำเงินเข้าประเทศมากๆหลายภาคธุรกิจ น่าเป็นห่วงมาก เรื่องดีสรัปชั่นที่ของใหม่กำลังมาทดแทนของเก่า ดูเหมือนว่าจะมีสปีดเร็วขึ้นในช่วงที่เจอโควิด-19
อุตสาหกรรมไทยที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน อยู่ในสภาพเปราะบางมาก ยอดขายมีแต่จะลดลงต่อเนื่องทุกปี โรงงานที่ไม่สามารถปรับตัวได้ หรือไม่เคยคิดจะปรับตัว จะหมดหนทางอยู่รอดในอนาคต
ธนาคาร สถาบันการเงิน นักลงทุน ที่จะเอาเงินไปใส่กับแต่ละอุตสาหกรรมก็มีข้อมูลชุดเดียวกัน มีวิธีวิเคราะห์และเลือกลงทุนโดยคำนึงถึงธุรกิจที่มีแนวโน้มดีเท่านั้น ถ้าพวกเขาเห็นว่าไม่มีอนาคต ก็ไม่มีทางที่จะอัดฉีดเงินเข้ามาให้
แต่สำหรับเจ้าของธุรกิจซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่ลงมือทำด้วยตัวเอง เอาเงินของตัวเองเข้าไปลงทุน แม้จะรู้ว่าอนาคตมีความยากลำบากและอยู่รอดยาก แต่การตัดใจทิ้งของเก่าเป็นเรื่องที่ทำใจได้ยาก เพราะมีความคิดว่ามันเคยดีเคยสำเร็จมาก่อน มันจะต้องสำเร็จได้อีกครั้ง…. หลายคนสู้ตาย และได้ตายไปกับของเก่าจริงๆ
เมื่อวิเคราะห์จากข้อมูลที่มีอยู่ สิ่งที่จะต้องถามและตอบตัวเองให้ได้เป็นอันดับแรก คือ ธุรกิจที่ทำอยู่ยังมีอนาคตหรือไม่? มีหนทางอื่นที่มีโอกาสดีกว่าให้เลือกทำมากกว่าไหม?
ถ้าคิดว่าธุรกิจเดิมที่ทำอยู่ยังมีอนาคต แต่เป็นความเลวร้ายที่เกิดขึ้นชั่วคราวเท่านั้น ต้องถามตัวเองต่อไปว่า ยังมีสายป่านพาตัวเองให้อยู่รอดถึงสิ้นปี 2021 หรือไม่?
สำหรับใครที่มองอย่างใจเป็นกลางตามความเป็นจริง ถ้าไม่เห็นทางรอดในอนาคต เลิกทำเร็วกว่า น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า!
อาจเป็นการโชคดีที่ได้ตายก่อน….